ผู้นำกองทัพขึ้น ฮ. บินดูพื้นที่น้ำท่วม คาด พ.ย.สถานการณ์ดีขึ้น
วันที่ 24 ต.ค. ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม. 2 รอ.) พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม
พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผบ.พล.ม.2 รอ. และนายทหารระดับสูงของกองทัพบกร่วมประชุมพร้อมฟังบรรยายสรุปแผนปฏิบัติ การการบินสำรวจสภาพพื้นที่กทม.และปริมณฑล เพื่อเตรียมแผนรับมือปัญหาอุทกภัย จากนั้นทางคณะขึ้นฮ.แบล๊กฮอว์ก เพื่อสำรวจเส้นทางน้ำในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เพื่อนำข้อมูลรายงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่าเป็นการบินเพื่อสำรวจเป็นวงกลมของพื้นที่กทม.และปริมณฑล
โดยเริ่มบินไปดูสันดรปากแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางประกง พื้นที่บางใหญ่ บางบัวทอง คลองรังสิต และคลอง 6 เพื่อดูรอยต่อน้ำที่ทะลักเข้ามาว่า ได้แก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน พร้อมดูน้ำจากคลองรังสิตที่จะเข้าคลอง หกวา และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง
โดยในวันที่ 25 ต.ค.นี้นัดกับผบ.ทบ.เพื่อใช้เรือมอเตอร์โบทเข้าไปตรวจเส้นทางของคลองที่สำคัญที่อาจเกิดภาวะวิกฤติน้ำหนุน
ซึ่งกองทัพบกได้เตรียมการแก้ไขหมดแล้ว พร้อมให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเฝ้าระวังในพื้นที่สำคัญ คือ คลองหกวา โดยจะพยายามพยุงน้ำให้ได้ภายใน 7 วัน หากเลยถึงต้นเดือนพฤศจิกายนปัญหาส่วนกลางจะลดน้อยลง
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวว่า รมว.กลาโหมสั่งการให้กองทัพช่วยเหลือประชาชนทุกเรื่องทั้งการป้องกันในหลายพื้นที่เพื่อไม่ให้น้ำส่วนใหญ่เข้ามาในพื้นที่ กทม. และให้ระบายน้ำให้ทันเวลา
ซึ่งทหารจะเข้าไปดูแลในการอพยพ ส่วนพื้นที่พนังกั้นน้ำรั่วไหลได้ส่งหน่วยกำลังเข้าไปดูแล ป้องกันคันกั้นน้ำ และอพยพประชาชนที่เดือดร้อนออกมา ส่วนเรื่องสถานที่พักพิง ทางกทม.มีอยู่ 50 เขต แต่มีเขตเสี่ยงภัย 27 เขต ทางที่ดี คือให้ระบายน้ำให้เร็วที่สุดก็จะต้องผ่าน กทม.บ้างบางส่วน บางส่วนก็ไปตะวันตก และ ตะวันออก ถ้าจะไม่ท่วมเลยคงไม่ได้ เพราะน้ำเยอะมาก
ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้อง ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ รมว.กลาโหมพิจารณายังไม่มีความจำเป็น พ.ร.ก.จำเป็นในเรื่องกฎหมายที่จะต้องมีความขัดแย้งกันมาก ๆ และมีการใช้อาวุธ แต่นี่มันไม่ใช่ เพราะมี ศปภ. ตามมาตรา 31 ของ พรบ.ป้องกันภัย เราสู้กับภัยพิบัติ และสู้กับน้ำ ไม่ได้สู้กับคน
ด้าน พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบทั้งหมด 26 จังหวัด และประสบภัยน้ำท่วม 13 จังหวัด
และจังหวัดที่วิกฤตคือ จ.ชัยนาท จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ลพบุรี และ จ.สิงห์บุรี สถานการณ์ขณะนี้เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว เพราะบางจุดน้ำเริ่มลดลง แต่ส่วนใหญ่ประชาชนมักอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เราจึงต้องส่งอาหารอย่างต่อเนื่อง แม้บางจุดอาจไม่ทั่วถึง แต่พยายามทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด