ถล่มกรุงอีก!! จมซ้ำ 22ถนน อุตุเตือนรับฝน หนักถึงวันจันทร์!!

ถล่มกรุงอีก!! จมซ้ำ 22ถนน อุตุเตือนรับฝน หนักถึงวันจันทร์!!

กรุงอ่วมฝนทะลักท่วมแทบทุกถนน เขตจตุจักรเจอหนัก สุดถึง 108 ม.ม.ผู้ว่าฯลงพื้นที่ถนนงามวงศ์วาน-ชินเขต เผยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มอีก 1,400 กว่าเครื่อง มั่นใจรับมือฝนและระบายน้ำได้อย่างดี กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนฝนยังตกหนักยาวทุกภาคทั่วประเทศถึง 29 พ.ค. พิจิตรลำบากหนัก อ.สามง่ามโดนถล่มทั้งจากน้ำยมล้นตลิ่งและน้ำป่า ประชาชน 200 หลังคาเรือนเดือดร้อน นาข้าวเสียหายอีกกว่าหมื่นไร่ ต้องเร่งกรอกกระสอบทรายทำคันดินป้องกันส่วนที่ยังกู้ได้

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางมีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนขึ้นไปบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 27-29 พ.ค.นี้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ผู้ว่าฯกทม. ผู้อำนวยการเขต และตำรวจจราจร บูรณาการความร่วมมือเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและน้ำท่วมขังอย่างเร่งด่วน ในช่วงที่ยังมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำท่วมซ้ำซากของกรุงเทพฯ เช่น ถ.รัชดาภิเษก ถ.ลาดพร้าว ถ.พหลโยธิน

"นายกฯเน้นย้ำเรื่องการกำจัดขยะในระบบระบายน้ำ ซึ่งพบว่ายังมีปริมาณมากทำให้เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ โดยจากนี้ไปให้ทุกหน่วยรณรงค์สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง โดยปลูกฝังให้รู้จักทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลองหรือท่อระบายน้ำ และขอให้แต่ละชุมชนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ช่วยกันลดปริมาณขยะสิ่งอุดตันกันคนละไม้ละมือ เพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้น" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

เวลา 16.00 น. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ จากเรดาร์ ว่า กทม.มีฝนเล็กน้อยปกคลุมพื้นที่โดยทั่วไป ปริมาณฝนสูงสุดที่เขตจตุจักร 108 ม.ม.

โดยปริมาณฝนหนักยังส่งผลให้มีน้ำท่วมขังรอระบาย จำนวน 37 จุด รวมถนน 22 สาย ความสูงตั้งแต่ 5-30 เซนติเมตร กว้างตั้งแต่ 1 เลน-เต็มผิวจราจร ยาวตั้งแต่ 200 เมตรไปจนถึงตลอดทั้งสาย ได้แก่ 1.ถนนราชวิถี 2.ถนนศรีอยุธยา 3.ถนนพระราม 6 4.ถนนสวนพลู 5.ถนนประชาสงเคราะห์ 6.ถนนอิสรภาพ 7.ถนนงามวงศ์วาน 8.ถนนรัชดาภิเษก 9.ถนนพหลโยธิน 10.ถนนประดิพัทธ์ 11.ถนนนิคมมักกะสัน 12.ถนนราชปรารภ 13.ถนนพระราม 4 14.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 15.ถนนฉลิมพลี 16.ถนนลาดพร้าว 17.ถนนอโศกมนตรี 18.ถนนพระราม 3 19.ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 20.ถนนประชาสุข 21.ถนนเพชรบุรี และ 22.ถนนสุนทรโกษา

ด้านพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาน้ำเร่งระบายบริเวณถนนงามวงศ์วาน ปากซอยชินเขต พร้อมด้วย นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผอ.สำนักการระบายน้ำ ว่า กทม.ยังคงรับมือไหว มีปริมาณน้ำฝนสะสมเพียง 160 ม.ม. เท่านั้น สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตก ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มอีก 1,400 กว่าเครื่อง จากเดิมที่ติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ เพียง 600-700 เครื่องเท่านั้น สามารถรับมือฝนและระบายน้ำได้เป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าฝนได้ตกลงมาต่อเนื่องกว่า 1 ช.ม. ในพื้นที่จ.ปทุมธานี ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่รอการระบายไหลเอ่อท่วมช่องทางคู่ขนานถนนพหลโยธินขาออกตั้งแต่บริเวณหน้าหมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ก.ม.35 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จนถึงปากซอยคุณพระ ก.ม.38 ปริมาณน้ำท่วมบางช่วงสูงเท่าขอบฟุตปาธทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปใช้เส้นทางด่วนเพื่อเลี่ยงการขับรถลุยน้ำ การจราจรขยับตัวได้ช้า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงปทุมธานีอยู่ระหว่างเร่งสูบน้ำลงคลองส่งน้ำที่1 โดยติดเครื่องสูบน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำถนนพหลโยธินขาเข้า ข้างร.พ.ภัทรธนบุรี

ที่ จ.พิจิตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ ต.รังนก อ.สามง่าม ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หลังจากในพื้นที่เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน ประกอบกับแม่น้ำยมมีมวลน้ำก้อนใหญ่จาก จ.สุโขทัย และจ.พิษณุโลก ไหลหลากลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีน้ำป่าจากด้าน จ.กำแพงเพชร ไหลทะลักสมทบเข้ามาอีกระลอก ส่งผลให้มีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ตำบลรังนกเพิ่มขึ้นรวม 6 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน มีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ซึ่งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 8 ได้นำเครื่องสูบน้ำระยะไกลมาติดตั้งบริเวณลำคลองวังรี บ้านจระเข้ผอม เพื่อเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่นาข้าวจำนวนกว่า 5 พันไร่ ให้ไหลระบายออกลงสู่แม่น้ำยมโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้น้ำป่าที่ไหลหลากมาจากกำแพงเพชร ยังทำให้นาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของ ต.รังนก ที่ประสบภาวะน้ำท่วมขังนาข้าวที่มีอายุได้ประมาณ 2 เดือน เนื้อที่กว่า 1 หมื่นไร่ อยู่แล้วนั้น มีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและแผ่ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น เกษตรกรพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 9 ต้องระดมกันเร่งกรอกกระสอบทรายจำนวน 2 พันกระสอบ เพื่อทำแนวคันดินเสริมเพิ่มให้สูงขึ้นอีก 50 ซ.ม. จากเดิมสูง 80 ซ.ม. เพื่อป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวที่เริ่มตั้งท้องอีกประมาณกว่า 4 พันไร่ โดยได้นำกระสอบทรายขึ้นเรือหางยาวออกไปครั้งละ 10-12 กระสอบ นำไปวางยังแนวคันดินริมลำคลองพื้นที่ลุ่มต่ำตลอดแนว ความยาวกว่า 1 กิโลเมตร

นายมานะ บุญผ่อง อายุ 60 ปี อดีตกำนัน ต.รังนก เปิดเผยว่า ต.รังนก ขณะนี้ 10 หมู่บ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก น้ำไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวกว่า 10,000 หมื่นไร่ ข้าวตายแล้วกว่า 4,000 ไร่ ส่วนที่ยังเหลืออยู่จะตายแหล่มิตายแหล่เนื่องจากน้ำท่วม เห็นแต่ปลายยอดข้าว อยากให้ชลประทานเร่งเปิดประตูน้ำที่ท่าแห ต.กำแพงดิน ทั้งหมด เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำยมที่สุโขทัยและพิษณุโลกผันเข้ามา ลงสู่แม่น้ำน่าน อยากให้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่ยังมีข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ซึ่งไม่ทันเพราะน้ำมาเร็วมาก นอกจากนี้ที่บริเวณคลองระบายน้ำตำบลรังนก หมู่ที่ 11 และ 12 ขณะนี้น้ำเกิดเน่าเสียเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็นจากข้าวที่ตาย ชาวบ้านแทบอยู่กันไม่ได้

วันเดียวกัน นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ยังคงมีบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในเขต จ.พิษณุโลก สุโขทัย และนครสวรรค์

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับ จ.พิษณุโลก พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านได้เร่งระบายน้ำในคลองเมม-คลองบางแก้วผ่านทางประตูระบายน้ำบางแก้ว ลงสู่แม่น้ำยมสายหลัก พร้อมกับผันน้ำส่วนหนึ่งจากคลองเมมผ่านคลองดีอาร์-15.8 ลงแม่น้ำน่าน เพื่อเร่งการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนจ.อุตรดิตถ์และสุโขทัย อีกด้านหนึ่งจะใช้คลองดีอาร์-2.8 เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังและเน่าเสียมานานหลายวันในเขตอ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย นอกจากนี้ยังได้นำรถขุดไฮโดรลิกส์จำนวน 4 คัน เสริมคันป้องกันตลิ่งต่ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 30 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง และที่จ.สุโขทัย ในเขตอ.คีรีมาศ โครงการชลประทานสุโขทัยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำยม ก่อนที่จะใช้คลองระบายดีอาร์ 2.8 รับน้ำและระบายน้ำไปลงแม่น้ำน่านตามลำดับ

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ส่วน จ.นครสวรรค์ น้ำที่ไหลหลากจาก เทือกเขาเพชรบูรณ์ ทำให้มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ชุมแสง ได้แก่ ต.หนองกระเจา ฆะมัง และ ต.พิกุล ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำแอ่งกระทะ ระดับน้ำท่วมสูง 0.30-0.50 เมตร หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3-5 วัน โครงการชลประทานนครสวรรค์ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางหว้า ต.บางเคียน อ.ชุมแสง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีซี.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,079 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงแม่น้ำสายหลักอื่นๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ อีกมาก


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์