อากาศร้อน ‘ตับแลบ’ ปีนี้ผิดปกติจริงหรือ?

อากาศร้อน ‘ตับแลบ’ ปีนี้ผิดปกติจริงหรือ?

ตอนนี้ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่องอากาศร้อนอบอ้าว เพราะในแต่ละปีในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน มักจะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี

ในปีนี้ก็เช่นกัน จนถึงขณะนี้ เริ่มมีคนออกมาสงสัยกันแล้วว่า อากาศร้อนจัดช่วงนี้ ร้อนผิดปกติ จนอาจส่งผลให้ปี 2560 กลายเป็นปีที่ประเทศไทยทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดก็เป็นได้หรือไม่

มูลเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าในปีนี้อาจเป็นปีที่ร้อนที่สุด เนื่องจากในปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 50 ปี หรือตั้งแต่เคยบันทึกสถิติกันมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยอุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียส

รวมถึงในปี 2560 ในขณะนี้เองหลายพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ท้ายสุดสภาพอากาศร้อนจัดของปีนี้จะสามารถทำลายสถิติในปีที่ผ่านมาได้หรือไม่ มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์อากาศให้คำอธิบาย

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีกระแสข่าวลือ หรือข้อความส่งต่อผ่านทางโซเชียลมีเดียจำนวนมากว่าในปี 2560 นี้ อากาศของประเทศไทยจะทำลายสถิติอุณหภูมิที่สูงสุด รวมทั้งข้อมูลจากบางแห่งยังระบุลงไปว่าอากาศอาจร้อนทะลุ 47 องศาเซลเซียส ในข้อเท็จจริงแล้วจากการประเมินของกรมอุตุฯ ในปี 2560 อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ราว 43 องศาเซลเซียสเท่านั้น อากาศวันที่ร้อนที่สุดยังไม่สามารถเกิดขึ้นแน่ชัดได้ แต่จะมาในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ในบริเวณภาคเหนือ และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน

นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนโอกาสที่จะไม่ทำให้ปี 2560 เป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุด เนื่องจากในปีนี้ไม่ได้เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ยพร้อมกันทั่วโลก ต่างจากในปี 2559 ถือว่าเป็นปีที่ได้รับอิทธิพลปรากฏการณ์เอลนิโญโดยตรง และมีปัญหาภัยแล้ง จึงส่งผลให้ประเทศไทยสามารถทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี โดยวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ที่ 44.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ช่วงก่อนหน้านี้มีพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีฝนตกในช่วงประเทศไทยตอนบน ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยไม่ทำให้อากาศร้อนมากไปกว่านี้

เรื่องข้อความหรือข่าวลือที่บอกว่าปีนี้จะร้อนที่สุด ในข้อเท็จจริงแล้วทางกรมอุตุฯเองก็พบว่าเรื่องเหล่านี้มักมีคนพยายามตัดต่อเนื้อหา ข้อความ หรือรูปภาพต่างๆ ไปเผยแพร่อยู่เสมอ ฉะนั้นจึงอยากขอให้ประชาชนเมื่อพบเจอกับข้อความดังกล่าวเหล่านี้แล้ว อย่าตระหนกตกใจ แต่ขอให้ดูข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือติดตามข่าวสารจากกรมอุตุฯโดยตรงจะดีกว่าŽ นายวันชัยกล่าว

นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับในช่วงสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์หน้าที่เป็นช่วงมีโอกาสอากาศจะร้อนที่สุดในรอบปี กรมอุตุฯจึงอยากให้คำแนะนำประชาชนในการรับมือเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจากอากาศที่ร้อนจัด คือ การเป็นลมแดด หรือ โรคฮีตสโตรก ฉะนั้นในช่วงนี้จึงอยากขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งกลางแดดในเวลากลางวันเป็นเวลานาน หรือหากจำเป็นต้องอยู่กลางแดดจริง ขอให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ ร่ม หรือหมวก รวมทั้งให้จิบน้ำบ่อยๆ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย

ด้าน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า

 ในช่วงปลายเดือนเมษายน สภาพอากาศของประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย โดยปกติจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 40-41 องศาเซลเซียส หากถามว่าช่วงไหนคาดการณ์ว่าจะเกิดสภาพอากาศร้อนที่สุด พบว่าปกติจะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากของประเทศไทย ซึ่งในปีนี้จะเริ่มจากใต้สุดของประเทศไทยที่ อ.เบตง จ.ยะลา ในวันที่ 5 เมษายน เวลา 12.19 น.ที่ผ่านมา ต่อมา

ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่ภาคเหนือขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นในวันที่ 27 เมษายน เวลาประมาณ 12.16 น. ดวงอาทิตย์จะโครจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากของกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 12.17 น.ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากในทางตอนเหนือสุดของประเทศไทยที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หากอุณหภูมิจะร้อนหรือไม่นั้น ต้องประกอบกับองค์ประกอบของความกดอากาศต่ำ อิทธิพลจากมรสุมที่จะเข้ามายังประเทศไทยก็จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติประมาณ 44-45 องศาเซลเซียส จากการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้วพบว่าช่วงปลายเดือนนี้อากาศยังไม่น่าสูงไปมากกว่า 40-41 องศาเซลเซียส

ส่วนประเทศไทยจะเจอกับอากาศร้อนยาวนานเป็นระยะเวลาเท่าไร ความจริงช่วงนี้ถือเป็นอุณหภูมิร้อนปกติก่อนจะเข้าฤดูฝน ในปีนี้ฤดูฝนก็จะมาเร็วคือในเดือนพฤษภาคมนี้ก็คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้สัมผัสกับบรรยากาศฝนตกแล้ว

"แม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประชาชนจะรู้สึกว่าอากาศร้อนจัด ขณะที่ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานอากาศไม่ได้ร้อนมากนัก เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาทางภาคอีสานพบว่ามีพายุฤดูร้อนเข้าไปปกคลุมหลายพื้นที่ เกิดอากาศแปรปรวน ฝนตก จึงช่วยบรรเทาอากาศร้อน ประชาชนสัมผัสได้ถึงอากาศเย็นหลังฝนตก อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 24-25 เมษายน ก็คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีความกดอากาศสูงเข้ามาอีกระลอกอาจทำให้เกิดพายุฤดูร้อนอีกŽ" นายรอยลกล่าว

Cr:::matichon.co.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์