การแก้ไขปัญหาน้ำรอระบายในช่วงที่มีฝนตกหนัก หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังมีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จากเกิดฝนตกหนักตั้งแต่เมื่อคืนนี้ จนทำให้ กรุงเทพมหานคร และถนนหลายสายได้รับผลกระทบ
สำหรับเมื่อคืนนี้ รวมปริมาณน้ำฝนได้สูงถึง 200 มม. โดยระบุว่าในระยะเวลา 21 วันของเดือนมิถุนายน มีฝนตกมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันในรอบ 25 ปี ถึง2 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นฝนที่เกิดในช่วงเวลาสั้นๆแต่มีปริมาณมาก จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักไปอีก1-2วัน (21-22 มิ.ย.) โดยได้สั่งการทุกฝ่ายให้เตรียมความพร้อมในการรับมือให้มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าถึงพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตก เมื่อได้รับสัญญาณเตือนจากเรดาร์ โดยเน้นการเร่งระบายน้ำในถนนเส้นหลัก เป็นลำดับแรก จากนั้นจะส่งต่อให้กับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ไปดูแลในส่วนของตรอก ซอก ซอยในพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่เขตเน้นเข้าไปดูแล บุคคล3 กลุ่มหลัก ได้แก่ คนชรา คนพิการ และผู้ป่วย ซึ่งเมื่อคืนนี้พบจุดที่เกิดปัญหาจำนวน 36 จุด แต่สามารถแก้ไขจนแล้วเสร็จไปได้ 27 จุด ในช่วงเวลาประมาณ 05.00 น. โดยสำนักระบายน้ำได้รายงานว่า ล่าสุดถนนทุกเส้นในกรุงเทพฯ ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น.
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำรอระบายในกรุงเทพมหานครในระยะยาว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยังคงจำเป็นต้องพึ่งอุโมงค์ระบายน้ำ โดยเฉพาะหนึ่งในจุดเสี่ยงที่เป็นปัญหา เช่น บริเวณศาลอาญารัชดา เมื่อการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อแล้วเสร็จในช่วงปี 2560 จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำรอระบายได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะถนนรัชดาและพื้นที่โดยรอบ แต่การแก้ไขปัญหาระยะสั้นได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มจากเดิมที่มี 6 ตัว โดยเพิ่มอีก 4 ตัว เพื่อสูบน้ำออกไปลงยังคลองใกล้เคียง คือคลองลาดพร้าว แต่ไม่สามารถที่จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำได้มากกว่านี้ เนื่องจากว่า น้ำในคลองลาดพร้าวมีปริมาณมาก อาจจะกระทบประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งพร่องน้ำในคลองเพื่อให้เข้าสู่ระดับปกติโดยเร็วที่สุด คือ -60 ซม. ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ขอขอบคุณประชาชนที่เข้ามาให้กำลังใจและขออภัยผู้ที่ไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจาก กรุงเทพมหานครเป็นเมืองพื้นที่ต่ำและเป็นเมืองน้ำ การแก้ปัญหาน้ำรอระบายจำเป็นต้องใช้เวลาแต่ขอยืนยันว่า ประสิทธิภาพการรอระบายน้ำและน้ำขังในปัจจุบันดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปี 2552 อย่างชัดเจนและในอนาคตเมื่อระบบระบายน้ำเสร็จสมบูรณ์เชื่อมโยงกันเป็นระบบเดียวจะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น