นักวิชาการชี้ ”รอยร้าวสะกาย” ในพม่า จับตาไทยมีรอยร้าว14แห่งคลุมภาคเหนือ

นักวิชาการชี้  ”รอยร้าวสะกาย” ในพม่า จับตาไทยมีรอยร้าว14แห่งคลุมภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่นว่า โดยหลักๆ แล้ว แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวแบ่งเป็น 2 ประเภท คือเกิดบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่ในแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก แต่รอยต่อส่วนใหญ่จะอยู่ในทะเล ดังนั้นจุดศูนย์กลางจึงอยู่ในทะเล หากมีความรุนแรงมากก็ก่อให้เกิดเป็นคลื่นสึนามิ อย่างเหตุการณ์ในปี 2554 ที่มีความรุนแรงขนาด 9.0 แมกนิจูด และอีกประเภทคือเกิดบริเวณรอยร้าว รอยแตก หรือรอยเลื่อนบนแผ่นเปลือกโลก

โดยในญี่ปุ่นพบรอยร้าวกว่า 200 แห่ง อย่างที่คุมาโมโตะ แต่การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณนี้จะเกิดได้ยากกว่า เนื่องจากรอยร้าวหรือรอยเลื่อนใช้เวลาสะสมพลังงานนานมาก ประมาณร้อยปีไปจนถึงพันปี แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเสียหายและอันตรายกว่าการเกิดที่รอยต่อใน ทะเลมาก เนื่องจากจุดศูนย์กลางอยู่ไม่ลึก และหากอยู่ใต้พื้นดินจะสร้างความเสียหายกับบ้านเรือนอย่างมาก ที่คุมาโมโตะถือว่ามีความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับความรุนแรงขนาด 7.3 แมกนิจูด กับศูนย์กลางที่มีความลึกเพียง 10 กิโลเมตร

ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนที่ส่วนใหญ่มีความมั่นคงแข็งแรง และเมืองมีขนาดไม่ใหญ่มาก แหล่งที่อยู่อาศัยจึงไม่หนาแน่น แต่หากเกิดขึ้นในเมืองที่ไม่มีการเตรียมตัวหรือเมืองขนาดใหญ่อาจสร้างความ เสียหายกว่านี้มาก ยกตัวอย่างเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เกิดจากการเคลื่อนของรอยร้าวบนแผ่นเปลือกโลกที่เมืองโกเบ มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน สร้างความสูญเสียมากกว่าคุมาโมโตะ เนื่องจากโกเบเป็นเมืองที่ใหญ่กว่ามาก

ศ.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ขณะที่ไทยไม่ได้อยู่ในแนวรอยต่อของเปลือกโลก แต่มีประเทศไทยเพื่อนบ้านอยู่ในแนวรอยต่อ คือพม่า เนปาล อินโดนีเซีย ซึ่งจะประสบแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะที่พม่าซึ่งมีรอยร้าวบนแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่อีกด้วย คือรอยร้าวสะกาย ที่พาดผ่านแนวเหนือ-ใต้ของประเทศ และอยู่ใต้เมืองสำคัญ อาทิ มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอีกไม่นานนี้ โดยเฉลี่ยจะเกิดขึ้นทุก 30-50 ปี มีขนาด 7-8 แมกนิจูด จะทำให้พม่าจะประสบกับภัยพิบัติครั้งใหญ่

ส่วนประเทศไทยพบรอยร้าวบนแผ่นเปลือกโลก 14 แห่ง ในภาคเหนือทั้งหมดจนมาถึงกาญจนบุรี แต่อย่างที่บอกว่ารอยร้าวจะใช้เวลาสะสมพลังงานเป็นเวลานานมาก รอยร้าวของไทยอาจใช้เวลาถึงร้อยปีหรือพันปีข้างหน้าจึงจะเกิดการเคลื่อนตัว โดยระยะเวลาขนาดนี้อาจทำให้เกิดความประมาท ไม่ได้เตรียมตัวมากเท่าไหร่นัก อาทิ กฎหมายควบคุมอาคารที่มีอยู่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกขนาด มีข้อบังคับมาตรการรองรับแผ่นดินไหวในตึกสูงเท่านั้น ซึ่งอาคารส่วนใหญ่ที่อยู่ในข้อบังคับก็ยังออกแบบไม่ได้มาตรฐานเท่ากับประเทศ ที่ประสบแผ่นดินไหวรุนแรง

ดังนั้นแม้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวในไทยจะยาก แต่ก็ไม่ควรประมาทหรือประเมินสถานการณ์ไว้ต่ำเกินไป ควรเริ่มดำเนินการจริงจังกว่านี้ โดยมาตรการหลักที่ทั่วโลกต่างดำเนินการ คือกำหนดให้การออกแบบอาคารบ้านเรือนมีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายน้อยที่สุด

 

ที่มา มติชนออนไลน์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์