เขื่อนเจ้าพระยาแห้ง เข้าขั้นวิกฤติอีกรอบ ฝนถล่มสบเมย-ตาก

เกิดภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนตั้งแต่วันที่ 30 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม โดยพื้นที่พักพิงชั่วคราว (ศูนย์อพยพ) แม่ลามาหลวง มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 135 มม. พื้นที่พักพิงฯบ้านแม่ละอูน วัดได้ 120 มม.ที่ว่าการอำเภอสบเมยวัดได้ 110 มม. อุทยานแห่งชาติแม่เงา วัดได้ 72 มม. ปริมาณน้ำแม่เงา เพิ่มระดับสูงขึ้นอีก 30 ซม.

เฉพาะพื้นที่ศูนย์พักพิงบ้านแม่ลามาหลวง ฝนได้ตกตลอดทั้งคืนทำให้กระแสน้ำในลำห้วยเพิ่มขึ้นจนเอ่อเข้าท่วมที่พักอาศัยของผู้หลบหนีภัยสงครามที่อยู่ติดกับลำห้วยบางส่วน ทางเจ้าหน้าที่ อส.ได้ทำการอพยพผู้หลบหนีภัยสงครามฯ ขึ้นไปอยู่บนที่สูงแล้ว และเตือนผู้อพยพให้เฝ้าระวังดินโคลนถล่มตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุดินสไลด์ ต้นไม้ และเสาไฟฟ้าล้มปิดทับเส้นทางระหว่างบ้านแม่คะตวน ม.2 - บ้านห้วยกองมูล ม.4 ต.สบเมย ทำให้กระแสไฟฟ้าดับ สัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้ และเหตุการดังกล่าวยังเกิดขึ้นที่ ทางหลวงหมายเลข 1194 บริเวณบ้านห้วยโผ อ.แม่สะเรียง - บ้านแม้สามแลบ ม.1 อ.สบเมย หลายจุด ทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ รวมทั้งที่

ถนนหมายเลข108กม.ที่ 176 - 177 อ.แม่สะเรียง เสาไฟฟ้าโค่นล้ม4ต้นรถผ่านไม่ได้

ด้านที่จังหวัดตากเกิดภาวะฝนตกหนักเช่นเดียวกัน ทั้ง อ.แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด-อุ้มผาง และ อ.ท่าสองยาง ทำให้แม่น้ำเมยเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลแม่ต้าน(ท่าสองยาง)และเกิดดินจากภูเขาสไลด์ทับเส้นทาง ทางหลวงสาย ทางทางหลวง 105 กม.92+010 สาย แม่สอด-แม่ระมาด-แม่ต้าน(ท่าสองยาง) จ.ตาก และรอยต่อ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และยังมีต้นไม้ใหญ่ ล้มลงมาทับตามเส้นทาง สายดังกล่าวหลายจุด

ส่วนที่บริเวณศาลโมกขละ ที่เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ บ้าน หมู่ 2 ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง ติดถนนหลักเส้นทาง แม่สอด-แม่ระมาด-แม่ต้าน(ท่าสองยาง)-แม่สะเรียง ปรากฏว่าดินทรุดตัว และสไลด์ลง ทำให้พื้นที่ดินบริเวณรอบๆ ศาลโมกขละ ทรุดใก้ลๆกับศาล และหากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องคาดว่าดินจะทรุดตัวลงมากกว่านี้ และอาจจะทำให้ศาลโมกขละเสียหายได้


เขื่อนเจ้าพระยาแห้ง เข้าขั้นวิกฤติอีกรอบ ฝนถล่มสบเมย-ตาก

วันเดียวกัน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย แม้สถานการณ์น้ำในเขื่อนจะดีขึ้นมากเพราะฝนตกหนัก แต่รัฐบาลยังขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกครัวเรือน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำต่อไป เพราะน้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าต่อทุกคน และควรที่จะใช้อย่างรู้คุณค่า

นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บนำเขื่อนสิริกิติ์ ว่า ปริมาณน้ำอยู่ที่ 3,204.74 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือ คิดเป็นร้อยละ 33.70 ปริมาณน้ำพร้อมใช้งาน 354.74 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็นร้อยละ 5.33 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวันที่ผ่านมา 22.16 ล้าน ลบ.ม. สาเหตุอันเนื่องมาจากได้มีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อน แต่ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะปริมาณน้ำที่มีอยู่น้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา หากเทียบกับช่วงเดียวกัน เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 3,437.63 ล้าน ลบม. หรือเท่ากับ 36.15 %

ทั้งนี้เขื่อนสิริกิติ์ ได้ระบายน้ำตามตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน ขณะนี้ระบายน้ำออกไปวันละ 11.11 ล้าน ลบ.ม. ไปจนถึงประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2558 พร้อมสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนสิริกิติ์ ลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนหลังรัฐบาลห้าม

สูบน้ำ และ ส่งน้ำเข้าคลองชลประทานถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำ

นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในรอบ 24 ชั่วโมง ระดับน้ำลดลง14ซ.ม. ไปอยู่ที่ 14.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.)แตะจุดวิกฤต 14.00 ม.รทก.อีกครั้ง หลังจากพ้นวิกฤตมาได้เพียง10วัน ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวที่ 6.21ม.รทก. ขณะเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำ 95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วิ) เพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำและกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ระดับน้ำที่ลดลงกลับมาแตะระดับวิกฤตอีกครั้งนั้น สืบเนื่องจากมีการส่งน้ำเข้าพื้นที่ปลูกข้างนาปีที่กำลังตั้งท้อง ทั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันความเสียหายของนาข้าวประมาณ 6 แสนไร่ และอยากขอร้อง ชาวนาอย่าเพิ่มทำนาเพิ่มในระยะนี้ เพราะน้ำต้นทุนในเขื่อนยังไม่อยู่ในระดับที่จะจัดสรรเพื่อการเพาะปลูกเพิ่มได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้พื้นที่การเกษตรหลายแห่งเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บ้านเกาะ ต.วังกะพี้ อ.เมืองอุตรดิตถ์ และ ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล ที่ชาวนาหว่านไว้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน เนื้อที่ราวประมาณ 30,000 ไร่ ต้นข้าวรอดพ้นจากการยืนต้นตาย

กระนั้นก็ตาม ชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปียังมีความกังวลว่า หากฝนทิ้งช่วงน้ำที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงต้นข้าว จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการปล่อยน้ำบริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่าน ที่สถานีสูบน้ำบ้านเกาะ อ.เมืองอุตรดิตถ์ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรต่อไป

 


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์