นับถอยหลัง ! แล้งวิกฤตสิ้นกรกฎาน้ำหมดเขื่อน เจ้าพระยาฝั่งตอ.-ลพบุรี-ปทุมระทึก !!

นับถอยหลัง ! แล้งวิกฤตสิ้นกรกฎาน้ำหมดเขื่อน เจ้าพระยาฝั่งตอ.-ลพบุรี-ปทุมระทึก !!

ภัยแล้งยังวิกฤต หลังไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน ลุ่มเจ้าพระยาเหลือน้ำใช้ไม่เกินสัปดาห์แรกเดือน ส.ค. กรมชลฯ ยื้อบริหารน้ำที่เหลือให้ถึง 15 ส.ค. รอฝน สัปดาห์หน้าต้องลดระบายน้ำลงอีก กระทบน้ำกินน้ำใช้ภาคกลาง 

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบนว่า ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศก็ยังมีปริมาณน้อยมาก โดยเขื่อนเก็บน้ำหลัก 4 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำคงเหลือรวมกัน 633 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวมกันแค่ 10.23 ล้าน ลบ.ม./วัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำที่ไหลลงอ่างของเขื่อนสิริกิติ์มากที่สุด คือ 9.29 ล้าน ลบ.ม./วัน ขณะที่มีการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 28.12 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำจำนวนนี้จะพอใช้อีกไม่เกิน 22-31 วัน 

ลดระบายน้ำหลังวันที่ 20 ก.ค.

นับถอยหลัง ! แล้งวิกฤตสิ้นกรกฎาน้ำหมดเขื่อน เจ้าพระยาฝั่งตอ.-ลพบุรี-ปทุมระทึก !!

ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์พยากรณ์อากาศในช่วงนี้ว่า จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีฝนตกและตกหนักบางแห่ง แต่ต้องติดตามต่อไปว่าฝนที่ตกลงมาจะตกใต้เขื่อนหรือเหนือเขื่อน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าหากสถานการณ์น้ำยังวิกฤตอยู่เช่นนี้ (จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคมยังมีฝนตกเหนือเขื่อนน้อย) กรมชลประทานจะไม่มีทางเลือกที่จะต้องสั่งลดการระบายน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่งลงอีก 

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากปัจจุบันมีการระบายน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมกันวันละ 28 ล้านลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง "น้อยมาก"ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านปริมาณน้ำใช้การได้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคมนี้ กรมชลประทาน "อาจจะ" ต้องลดการระบายลงจากปกติที่ระบายในขณะนี้วันละ28 ล้าน ลบ.ม.ลงไปอีกในสัปดาห์หน้า ซึ่งต้องหารือกันกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป แม้ว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวเพิ่มทุกวันวันละ 50,000 ไร่ก็ตาม (จากที่ปลูกข้าวนาปี 2558/2559 ไปแล้วมากกว่า 4 ล้านไร่)

รายงานข่าวจากคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเปิดเผยว่า หากกรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการน้ำใน 4 เขื่อนหลักให้มีน้ำใช้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม โดยที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำยังมีน้อยมากแบบนี้ กรมชลประทานก็จะต้องลดการระบายน้ำจากวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ให้เหลือวันละ15-20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการระบายน้ำที่ระดับนี้คำนวณจากปริมาณน้ำคงเหลือปัจจุบัน บวกลบ น้ำไหลลงอ่างสิริกิติ์วันละ10 ล้าน ลบ.ม.แล้ว โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระดับที่ลดต่ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จังหวัดลพบุรี-ปทุมธานี มีความเป็นไปได้ว่าจะขาดน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเพราะไม่มีน้ำไหลลงอ่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

กปน.จับมือกรมชลฯแน่น

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กปน.ประสานกับกรมชลประทานได้รับคำยืนยันว่า จะส่งน้ำป้อนภาคอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในเขตบริการ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ โดยกรมชลฯจะระบายน้ำจาก 2 เขื่อนหลัก (ภูมิพล, สิริกิติ์) วันละ 25 ล้าน ลบ.ม. แบ่งมาใช้ในกิจการประปาแค่ 3.7 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศหรือผลักดันน้ำเค็ม2 ล้าน ลบ.ม. ส่วนความเค็มของน้ำดิบปัจจุบันอยู่ที่ 0.2 มก./ลิตร "จึงไม่มีปัญหานี้แต่อย่างใด"

ด้านนายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร สำนักสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำดิบใน กปภ.สาขา ประมาณ 50 สาขา อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง โดยมี 11 สาขาที่สถานการณ์รุนแรงที่สุด คือ สาขาปักธงชัย สาขาพิมาย จ.นครราชสีมา, สาขาเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี, สาขากระนวน จ.ขอนแก่น, สาขาแก้งคร้อ สาขาหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ, สาขาเดชอุดม จ.อุบลราชธานี, สาขาอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ, สาขาจุน จ.พะเยา, สาขาท่าตะโก จ.นครสวรรค์ และสาขาวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา โดยหลายสาขาไม่สามารถกำหนดเวลาจ่ายน้ำที่แน่นอนได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำดิบ 


น้ำใช้อุตสาหกรรมยังเพียงพอ

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รวบรวมข้อมูลปัญหาของโรงงานทั่วประเทศที่คาดว่าอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเสนอ นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาหาแนวทางแก้ไขแล้ว เบื้องต้นข้อมูลที่รวบรวมได้คือ จำนวนโรงงานในพื้นที่ทั้งหมด ปริมาณการใช้น้ำและความต้องการใช้น้ำเพิ่ม พบว่าปริมาณน้ำใช้ของแต่ละโรงงานยังมีเพียงพอ ส่วนใหญ่มีอ่างเก็บน้ำสำรองของตนเอง ส่วนแผนระยะยาวของ กรอ.ได้วางยุทธศาสตร์การดูแลโรงงานทั่วประเทศที่มีอยู่ 80,000 โรง เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งในอนาคต

นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมในภาคตะวันออกที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กนอ. อาทิ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำกว่า 500,000 คิว/วันนั้นยังคงมีน้ำสำรองเพียงพอจนกว่าจะเข้าฤดูฝนที่คาดว่าฝนจะเริ่มตกในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ 

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้ง 2 แห่ง (อมตะนครชลบุรี-อมตะซิตี้ระยอง) และยังได้เตรียมแผนรับมือและการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำแก้มลิงกว่า 500 ไร่ให้เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งในและนอกพื้นที่นิคม จึงทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้

หัวหิน-ชะอำ-พัทยา น้ำยังพอใช้

นายนุกูล พรสมบูรณ์ศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่าปัญหาภัยแล้งยังไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ชะอำ ขณะนี้โรงแรม รีสอร์ตยังสามารถใช้น้ำได้ตามปกติ สอดคล้องกับนายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ว่าน้ำประปาในเขตชุมชนหนาแน่น ที่มีการลงทุนโรงแรม รีสสอร์ตยังไหลปกติ แต่ได้เตรียมศึกษาการขุดอ่างสำรองน้ำดิบรองรับการเติบโตของเมืองหัวหินในอนาคต

ด้าน ดร.รุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์ ที่ปรึกษานายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะตุนน้ำประปาไว้ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงหากน้ำประปาไหลช้าหรือหยุดไหล โดยการซื้อถังเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่นายเอกชัย อัตถการณ์นา ผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาค เขต 1 กล่าวถึงน้ำประปาในจังหวัดชลบุรี "ยังจ่ายน้ำปกติ" แม้ว่าปีนี้จะแล้งหนัก เนื่องจากน้ำต้นทุนที่มีอยู่คาดว่าจะสามารถจ่ายน้ำประปาได้ตามปกติประมาณ 3-4 เดือน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์