โปรดเกล้าฯ ทำ ฝนหลวง ช่วย 14 จังหวัด ดับวิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยา

โปรดเกล้าฯทำ‘ฝนหลวง’ ช่วย14จังหวัด ดับวิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยา บิ๊กตู่ถกครม.คลอดเยียวยา คนลพบุรีแห่ปลัดขิกขอฝน อุตุฯคาดปีนี้ตกแค่100วัน

โปรดเกล้าฯ ทำ ฝนหลวง ช่วย 14 จังหวัด ดับวิกฤติแล้งลุ่มเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดี

กรมชลประทานและ คณะได้เดินทางจากศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ดอนเมือง กรุงเทพฯไป จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติภารกิจ ซึ่งวันที่30 มิถุนายน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถาน ที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่2 ที่ จ.เชียงใหม่

นายกฯย้ำครม.เน้นถกแก้ภัยแล้ง

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่องบินไปจ.เชียงใหม่ ถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จะเน้นดูแลเรื่องแหล่งน้ำรวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ตอนบนลงสู่ตอนล่าง ขณะนี้ได้แก้ปัญหาภัยแล้งไปจำนวนมากโดยเฉพาะ การขุดบ่อบาดาลซึ่งจุดประสงค์หลัก เพื่อใช้อุปโภคบริโภค ไม่ใช่ใช้สำหรับการเกษตรจึงขอความร่วมมือประชาชนว่าอย่ายึดติดกับการใช้น้ำบาดาล หากหลังจากนี้มีฝนตกลงมา รัฐบาลจะยุติช่วยเหลือการขุดเจาะบ่อบาดาลเพราะน้ำใต้ดิน เป็นน้ำที่หายาก ในส่วนของความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งของแต่ละหน่วยงานได้รายงานให้รับทราบแล้ว แต่ละพื้นที่ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ส่วนในพื้นที่ไหนไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ต้องหางานหรือ อาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้ เป็นการทดแทน โดยยืนยันว่า รัฐบาลพยายามเร่งรัดและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มกำลังความสามารถ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลา17.00น.นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย จากนั้นช่วงเย็นได้ไปเดินเยี่ยมชมตลาดหน้าศาลากลาง ต.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่

‘ปิติพงศ์’บินตรวจสภาพพื้นที่แล้ง

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมแนวทางการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่สำนักชลประทานที่ 11 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ร่วมกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดี ฝ่ายบำรุงรักษา จากนั้นนายปีติพงศ์และคณะได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสภาพพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง พบว่ามีนาข้าวที่ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างหลายแล้งน้ำและมีต้นข้าวแห้งยืนต้นรอน้ำฝน

กรมอุตุฯคาดจะมีฝนตก100วัน

นายปีติพงศ์ กล่าวถึงผลการหารือว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าในช่วงหน้าฝนที่เหลือ จะมีฝนเข้ามาประเทศไทย ประมาณ100วัน ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ แต่ปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จึงได้ให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตรไปทำรายละเอียดการเพาะปลูกเป็นรายโครงการทั้งในพื้นที่ที่ปลูกแล้ว 3.4ล้านไร่ พื้นที่ที่ยังไม่ปลูก3 .45ล้านไร่และพื้นที่เสี่ยงเสียหาย8.5แสนไร่ว่าต้องการให้ภาครัฐ ช่วยเหลืออย่างไรซึ่งจะรายงานที่ประชุม ครม.วันที่30มิถุนายนก่อนเสนอ มาตรการช่วยเหลือใน ครม.เศรษฐกิจ วันที่3 กรกฎคมนี้

อย่างไรก็ตาม รมว.เกษตรฯระบุว่า เบื้องต้นทางกระทรวงเกษตรฯเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไว้ คือ การช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ช่วงพักทำนาในเดือนกรกฎาคมและช่วยเหลือด้านเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยการจ้างงานเกษตรให้เป็นแรงงานในการช่อมแชมบำรุงรักษาโครงการชลประทาน 22 จังหวัด

กรมชลฯคาดมีน้ำพอถึงแล้งหน้า

ขณะที่ นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่าสถานการณ์ฝน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อน หลัก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)วันที่27 มิถุนายน น้ำไหลเข้า 9 ล้าน ลบ.ม. สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดเดือนมิถุนายน ที่น้ำไหลเข้าเฉลี่ยวันละ7 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ส่วนการคาดการณ์ฝน จากกรมอุตุฯคาดว่าหลังฤดูฝนในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จะมีน้ำใช้การใน4 เขื่อนหลัก ประมาณ3,200-3,900ล้าน ลบ.ม. ช่วงนี้ จึงต้องเก็บน้ำไว้ในเขื่อน และชะลอการเพาะปลูกในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา ที่ยังไม่ลงมือปลูก 4 ล้านไร่

“ในเดือนกรกฎาคมนี้ ฝนน่าจะมาประมาณสัปดาห์ที่3 และฝนจะเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคมและกันยายนซึ่งยืนยันว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน2558จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้3,500ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คาดการณ์จะพอใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้ถึงฤดูฝนปี2559 ซึ่งปริมาณน้ำที่คำนวณไว้ ได้มองไปถึงหน้าแล้งระยะ6เดือนข้างหน้าด้วย”นายเลิศวิโรจน์ ย้ำ

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำ 5 เขื่อน

ขณะที่ นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้บินตรวจสภาพน้ำที่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมาโดยระบุว่าเขื่อนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำน้อยวิกฤติสุดในรอบหลาย10ปี โดยได้เร่งระดมเครื่องบินฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ให้มีน้ำกินน้ำใช้ก่อนและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่ เกษตรอาศัยน้ำฝน และนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้อย่างเร่งด่วนขณะนี้กำลังเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อน

นายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่าแม้สภาพอากาศทั่วไปจะมีอธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ประเทศไทยยังมีฝนน้อยกว่าปกติมาก กระทบต่อปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างขนาดใหญ่เช่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิริกิตติ์และเขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำลดน้อยลงอย่างมาก กรมฝนหลวง ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ข่อนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานีและหน่วยเติมสารฝนหลวงขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยปฏิบัติการจำเป็นต้องเน้นทุกพื้นที่

โปรดเกล้าฯทำฝนหลวง14จว.

ที่ ศูนย์ฝนหลวงพิเศษในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ได้ปรับแผนในการปฏิบัติการทำฝนเพื่อเข้าช่วยเหลือภัยแล้ง ล่าสุด นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ เผยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบภัยแล้งโดยทรงโปรดเกล้าฯให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางนครสวรรค์ที่ตั้งฐานศูนย์ฝนหลวงพิเศษเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง ให้กับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่การเกษตรภาคกลาง ทั้ง14จังหวัดได้แก่จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการประชุมปรับแผนในการเข้าช่วยเหลือภัยแล้ง และมีการตรวจสอบสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากพบพื้นที่ใดมีสภาพอากาศเหมาะสม จะทำฝนหลวงเพื่อช่วยภัยแล้งทันที ส่วนฝนได้ตกลงมาตามที่ทำลงไป แต่เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้งมากจึงทำให้ฝนตกลงมาน้อยและยังไม่ได้ผลเท่าที่คาดไว้

จณะที่ นายบุญยืน พฤษโชค ชาวประมง จังหวัดนครสวรรค์เผยว่าระดับน้ำบึงบอระเพ็ดปีนี้ระดับน้ำมีน้อยมาก ล่าสุดมีเพียงร้อยละ20ของความจุ ประมาณ103,273,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้าฝนยังไม่ตกลงมาอีกภายใน7-10 วัน คาดว่าน้ำในบึงบอระเพ็ดจะแห้งที่สุดในรอบ50 ปี เลยทีเดียว

บุรีรัมย์นาข้าวขาดน้ำ2.8แสนไร่

สำหรับสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งใน จ.บุรีรัมย์ ยังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ข้าวขาดน้ำเหี่ยวเฉาและยืนต้นตาย นายวันชัย ทิพย์อักษร เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอและเกษตรตำบลทุกตำบลทั้งจังหวัด เร่งลงพื้นที่ออกสำรวจพื้นที่นาข้าวที่ประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงแห้งตายเสียหาย เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอจังหวัด พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภาวะภัยแล้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ของราชการ จากข้อมูลรายงานในเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่นาข้าวที่เกษตรกรไถหว่านไปแล้วกว่า 1,500,000ไร่ มีปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วง ที่คาดว่าจะเสียหายแล้วกว่า 280,000 ไร่เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานเกษตรฯจังหวัดเพื่อทำเรื่องขอฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว

ชาวนาแห่ปลัดขิกโบราณขอฝน

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝนได้ทิ้งช่วงมานานกว่า1เดือน ข้าวที่ปลูกกำลังขาดน้ำและยืนต้นตาย ไม่สามารถหาแหล่งน้ำได้ ชาวนาในพื้นที่ ตำบลโพธิ์เก้าต้น และตำบลโพธิ์ตลาดแก้ว จำนวนกว่า100คน รวมตัวทำพิธีสวดขอฝนแบบโบราณที่กลางทุ่งนาหมู่ที่ 13 ต.โพธิ์เก้า อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จำนวนกว่าหมื่นไร่ ได้ร่วมกันแต่งชุดขาว พร้อมจัดเครื่องบวงสรวง เป็นผลไม้นานาชนิด ร่วมทำพิธีขอฝน ชุมนุมเทวดา สวดคาถาพระพิรุณศาสตร์ พร้อมแห่ปลัดขิก โดยมี พระครูวรวิหารานุรักษ์ เจ้าคณะตำบลโพธิ์เก้าต้นพร้อมพระสงฆ์11 รูปร่วมสวดคาถาขอฝน ใช้เวลาประมาณ1ชั่วโมง จากนั้นได้เริ่มแห่ปลัดขิกไปบนคันนาขณะที่ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มขึ้นมาเต็มท้องฟ้าอย่างไม่น่าเชื่อ

ชาวนา อ.ไชโยวอนรัฐเร่งขุดบาดาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จ.อ่างทอง หลังคลองชลประทานที่ยาวกว่า 10 กิโลเมตรน้ำแห้งขอดคลอง ชาวนาทุกข์หนักไร้น้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวแห้งเหี่ยวเฉายืนต้นรอความตายไร้เงินทุนขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ในโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมาเสริมผิวดิน เพื่อเกษตรกร ที่กำลังประสบภัยแล้ง นายทรงยศ มะกรูดทอง อายุ 62 ปี สมาชิกสภาเกษตรอำเภอไชโย พร้อมชาวนาในตำบลเทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแก้มลิงรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลเข้าท่วมทุ่งพื้นที่ทำนาของเกษตรกรในช่วงเดือนตุลาคม ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ตำบลเทวราชที่ยังไม่ได้ลงมือทำนาคงหมดโอกาสทำนาจึงวอนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่นำโครงการขุดเจาะบาดาลช่วยภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มาขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ทุ่งนาในตำบลเทวราช อำเภอไชโย อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาภัยแล้งให้เกษตรกรชาวนาก่อนที่ชาวนาจะสิ้นหวัง หมดกำลังในการต่อสู้ทำนาเลี้ยงครอบครัวต่อไป

บี้เปิดสภาฯของบซื้อเครื่องสูบน้ำ

ด้าน นายบุญรอด ยอดมีกลิ่น นายกองค์การบริห่ารส่วนตำบล(อบต)ป่างิ้ว อ.เมืองจ. อ่างทอง กล่าวว่า ขณะนี้ในท้องที่ทำการเกษตร ยังขาดน้ำในการทำนา แม้ได้ใช้เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่สูบน้ำเข้าพื้นที่ทำนา แต่เครื่องสูบน้ำ ไม่เพียงพอช่วยเหลือชาวนาให้มีน้ำทำนาได้ทันท่วงทีจึงขอให้เปิดประชุมสภาฯด่วนเพื่อขออนุมัติงบประมาณ ซื้อเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง นำไปสูบน้ำช่วยชาวนาได้อย่างทั่วถึง

นายวินัย บุญศรี นายก อ.บ.ต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ. อ่างทอง เผยว่าในพื้นที่รับผิดชอบ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยทหารเข้าไปขุดบ่อน้ำบาดาล 12 บ่อ ขณะนี้ขุดเจาะไปแล้ว 5 บ่อ พบมีน้ำใต้ดินทุกแห่ง แต่สูบน้ำขึ้นมา ยังไม่เพียงพอ ช่วยชาวนาได้ทั่วถึง คาดว่าเมื่อขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลครบทั้ง12 บ่อ จะทำให้นาข้าวในพื้นที่ดีขึ้น

ศรีสะเกษนาแห้งดินแข็งรถไถไม่เข้า

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ศรีสะเกษว่าที่ทุ่งนาบ้านหนองดีปลี หมู่ 2 ต.หนองไฮ อ.อุทุมพรพิสัย ได้พบ ชาวนา 2 คนกำลังใช้จอบขุดดินในผืนนา แห้งจนดินแตกระแหงได้ไปสอบถามจึงทราบว่านาแล้ง หลังจากฝนทิ้งช่วงไม่ตกมากว่า 2 เดือนจึงได้ไปแจ้งรถไถมาไถพลิกดินก่อนหว่านข่าวแต่ดินแข็งมาก จนรถไถนา ไถไม่เข้า จึงทนรอฝนไม่ไหว จึงตัดสินใจหว่านข้าวลงในผืนนาแล้วใช้จอบขุดดินกลบถมเมล็ดข้าว นอกจากตำบลนี้แล้วยังมีชาวนาคนอื่นอีกหลายรายที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์