“ภูเขาไฟวูล์ฟ” บนหมู่เกาะกาลาปาโกสระเบิดครั้งแรกในรอบ 30 ปี –หวั่นคุกคาม “อีกัวนา” พันธุ์หายาก
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ภัยพิบัติ “ภูเขาไฟวูล์ฟ” บนหมู่เกาะกาลาปาโกสระเบิดครั้งแรกในรอบ 30 ปี –หวั่นคุกคาม “อีกัวนา” พันธุ์หายาก
เอเอฟพี – ภูเขาไฟวูล์ฟบนหมู่เกาะกาลาปาโกสปะทุขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี และปลดปล่อยธารลาวาร้อนจัดออกมาเมื่อวันจันทร์ (25 พ.ค.) ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญหวั่นวิตกว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์หายากอย่าง “อีกัวนาสีชมพู” ซึ่งพบเพียงฝูงเดียวในโลกบนเกาะแห่งนี้
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปาโกสได้แจ้งเตือนผ่านทวิตเตอร์ว่า เกาะอิซาเบลาซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟวูล์ฟ คือถิ่นอาศัยของ Conolophus marthae สัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์หายากที่พบเพียงฝูงเดียวในโลก และเป็นที่รู้จักในชื่อ “อีกัวนาสีชมพูแห่งหมู่เกาะกาลาปาโกส”
อย่างไรก็ดี ทางอุทยานได้แถลงอีกครั้งในภายหลังว่า ถิ่นที่อยู่ของอีกัวนาสีชมพูซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูเขาไฟอิซาเบลา น่าจะพ้นเขตอันตราย
“อีกัวนาสีชมพูอาศัยอยู่รวมกับอีกัวนาสีเหลือง และเต่ายักษ์แห่งกาลาปาโกส (Chelonoidis becki) บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ ซึ่งทำให้เราพอมีหวังว่าพวกมันจะไม่ได้รับผลกระทบ”
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ธารลาวาที่ไหลลงมาจากปากปล่องภูเขาไฟเมื่อเช้าวานนี้ (25) อยู่อีกด้านหนึ่งของเกาะ
เรือนักท่องเที่ยวลำหนึ่งที่ผ่านเข้าไปใกล้เกาะอิซาเบลาได้แจ้งให้ทางการทราบว่า ภูเขาไฟสูง 1,707 เมตรลูกนี้กำลังระเบิด จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานจึงส่งเครื่องบินเข้าไปสำรวจเพื่อประเมินสถานการณ์
“การปะทุทำให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยสูงกว่า 10 กิโลเมตร และค่อยๆ ลอยไปทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาไฟ” ซานโดร วากา เจ้าหน้าที่จากสถาบันธรณีฟิสิกส์แห่งเอกวาดอร์ กล่าว พร้อมระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อประชาชนบนเกาะที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเปอร์โตวิลลามิล (Puerto Villamil) ซึ่งห่างจากภูเขาไฟไปทางทิศใต้ราวๆ 115 กิโลเมตร
วากา ยังเตือนว่า กิจกรรมภูเขาไฟน่าจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายวัน และอาจมีธารลาวาไหลออกมาอีก
เจ้าหน้าที่อุทยานแถลงว่า
การปะทุของภูเขาไฟวูล์ฟยังไม่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเดินทางเข้าไปชื่นชมความงดงามของหมู่เกาะกาลาปาโกสได้ตามปกติ
อีกัวนาสีชมพูถูกค้นพบในปี 1986 และนักวิทยาศาสตร์ได้จัดให้เป็นคนละสปีชีส์กับอีกัวนาบกกาลาปาโกส (Galapagos land iguana) เนื่องจากมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประกาศให้อีกัวนาสีชมพูเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered)
เกาะอิซาเบลาเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะกาลาปาโกส ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้มาเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ในปี 1835 และทำการศึกษาวิจัยจนคิดค้น “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ได้สำเร็จ
ขอขอบคุณ ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!