ในภาวะที่เกิดภัยพิบัติเช่นนี้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่ภัยพิบัติทุกครั้งที่เกิดขึ้นมักจะมีปัญหาไม่ต่างกัน คือการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย และการกระจายความช่วยเหลือ ปัญหาในการทำงานในเนปาลครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน
ทันทีที่มีรายงานข่าวว่าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในกรุงกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล ทีมกู้ภัยจากทั่วโลกก็เตรียมตัวเดินทางมาเนปาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในแง่ของการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง รวมถึงการช่วยเหลือผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
แม้ว่าทั่วโลกจะพร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่อุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย เริ่มตั้งแต่สนามบินตรีภูวันที่ปิดทำการเป็นระยะๆ เนื่องจากเกิดอ๊าฟเตอร์ช็อค ทำให้ต้องอพยพคนออกจากหอบังคับการบิน รวมถึงมีเครื่องบินจำนวนมากเป็นร้อยๆ ลำ ที่ต้องการลงจอดในสนามบินซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็ก อุปสรรคข้อต่อมา คือพื้นที่ประสบภัยในเนปาลถูกปิดกั้นเนื่องจากมีดินถล่ม หรือไม่ถนนก็ได้รับความเสียหาย
จนไม่สามารถขับรถเข้าไปส่งความช่วยเหลือได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในยามเกิดวิกฤตแบบนี้ คือจะต้องมีเจ้าภาพในการประเมินสถานการณ์ ซึ่งน่าจะเป็นรัฐบาลเนปาลที่ทำงานร่วมกับองค์กรบรรเทาทุกข์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และทำหน้าที่การกระจายความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะถ้าไม่มีการประเมินในภาพรวม หมู่บ้านที่ได้รับความช่วยเหลือก็อาจจะได้รับจนเกินความต้องการ
ขณะที่พื้นที่ประสบภัยอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องอำนวยความสะดวกด้วยการปรับระบบศุลกากรให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์สามารถส่งสิ่งของเข้าไปเนปาลได้เร็วกว่าปกติ รวมถึงการออกวีซ่าให้กับหน่วยบรรเทาทุกข์จากทั่วโลกด้วย
ขอบคุณ :: thaipbs