"ปภ." ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 40 จังหวัด เผย "นายกฯ" สั่งระดมช่วยเหลือประชาชน เน้นจัดโซนนิ่งช่วยตามระดับความรุนแรง
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)แล้ว 40 จังหวัด 269 อำเภอ 1,674 ตำบล 16,014 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และสุรินทร์ ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สระบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ปราจีนบุรี ตราด ชลบุรี สมุทรปราการ และสระแก้ว ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และปัตตานี
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีห่วงสถานการณ์ภัยแล้งจึงได้มอบหมายให้ ปภ.บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง
เน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำทั่วถึงทุกพื้นที่ สำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จัดโซนนิ่งพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือตามระดับความรุนแรง พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำที่ใช้ในการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเน้นการกระจายน้ำทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่วัสดุอุปกรณ์นำน้ำไปแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ
พบว่ามีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 39,763 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,260 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35มากกว่าช่วงเดียวกันของปี2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 38,197 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 54 จำนวน 1,566 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำกักเก็บรวม 10,512 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35.75 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ เป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 3,716 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23.25 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่กำหนด
โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด
เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผล ทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ.