3 ต.ค.56 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบัน
เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 33 จังหวัด 248 อำเภอ 1,479 ตำบล 11,895 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 846,436 ครัวเรือน 2,875,193 คน บ้านเรือนเสียหาย 14,703 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,168,466 ไร่ ถนน 4,947 สาย สะพาน 201 แห่ง ฝาย/ทำนบ 518 แห่ง ผู้เสียชีวิต 27 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และมุกดาหาร
ทั้งนี้ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 24 จังหวัด 185 อำเภอ 1,156 ตำบล 9,169 หมู่บ้าน 740,431 ครัวเรือน
แยกเป็น น้ำป่าไหลหลาก 20 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ และยโสธร ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุทัยธานี ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ส่วนสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 21 อำเภอ 160 ตำบล 809 หมู่บ้าน
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย
เร่งสำรวจสภาพความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร พร้อมประเมินความเดือดร้อนของประชาชน โดยพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนหลักเกณฑ์และระเบียบกระทรวงการคลัง สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้ทำการฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชนให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ประสบอุทกภัยสามารถนำเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด มาใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
กรณีงบประมาณของจังหวัดไม่เพียงพอ สามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการ โดยทำหนังสือเสนอผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประสานกระทรวงการคลังพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มเติมต่อไป