เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุดีเปรสชันได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในวันนี้ และจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวตอนล่างเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ของไทย ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณ จ.มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์ รวมถึงภาคตะวันออก จ.สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด มีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 19-21 ก.ย.
นายฉัตรชัยกล่าวถึงสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มภาคกลางบริเวณ อ.เสนา บางบาล ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
ซึ่งเป็นผลจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ บูรณาการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำ กรณีมีปริมาณน้ำไหลผ่านจำนวนมาก และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงและจุดอ่อนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้น ตลิ่ง จัดทำแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำ และจัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ โดยให้น้ำไหลลงคลองและระบายสู่พื้นที่รองรับน้ำที่จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ จังหวัดสามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับเตรียม การป้องกันและยับยั้งผลกระทบจากภัยพิบัติ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สาย ด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายประวิทย์ แจ่มปัญญา ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศ กล่าวว่า
ตามปกติแล้วนั้น ค่าเฉลี่ยของพายุที่จะก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกจะอยู่ที่ประมาณ 26 ลูก แต่ปีนี้เกิดไปแล้วประมาณ 13 ลูก จึงคาดการณ์กันว่าจะเหลือพายุอีกประมาณ 10 ลูก ที่จะก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่อาจไม่เป็นไปตามค่าเฉลี่ย และไม่ได้หมายความว่าพายุทุกลูกจะเข้าสู่ประเทศไทย แต่จากที่คาดการณ์จากสถิติในคาบ 70 ปีจะมีพายุประมาณ 2 ลูกที่จะเข้าประเทศไทย ลูกหนึ่งอาจจะเข้าทางตอนบนของประเทศไทย เช่น อีสาน เหนือ และกลาง ในช่วงก่อนเดือนต.ค. ซึ่งก็เพิ่งมีพายุดีเปรสชันเข้า จ.อุบลราชธานี ไปเมื่อช่วงเช้าแล้ว 1 ลูก ส่วนอีก 1 ลูกอาจจะเข้าทางภาคใต้ แต่บางปีก็อาจจะมีมากกว่า 2 ลูก หรือไม่เกิดเลย โดยหากพายุก่อตัวขึ้นใกล้ประเทศไทยก็มีโอกาสเข้าบ้านเรา แต่หากก่อตัวไกลก็มีโอกาสเคลื่อนตัวไปยังทิศทางอื่น