วันนี้ (29 มิ.ย.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก
กล่าวถึงกรณีที่ผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารชุด ร้อย ร.4021 ฉก.ยะลา 13 สังกัด ร.5 พัน 2 ค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ เป็นเหตุให้มีทหารเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ จำนวน 8 นาย และบาดเจ็บ 2 นาย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ตลอดเวลา และแสดงความเสียใจกับญาติกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่จนเสียชีวิต ทั้งนี้กองทัพบกจะดูแลครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ของผบ.ทบ.ในช่วงที่ผ่านมา ได้สั่งการให้เร่งรัดกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มเยาวชน ให้หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อดึงกลุ่มเยาวชนให้มีความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจหลักการทางศาสนาที่ถูกต้อง และเข้าใจในความปราถนาดีของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเหล่านี้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ
2.กลุ่มประชาชนเป็นหูเป็นตาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องให้ความสำคัญและหมั่นพบปะพูดคุยทำความเข้าใจ และอำนวยความสะดวก 3.กลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ จะต้องกำหนดความเร่งด่วน โดยใช้มาตรการกดดันทางกฎหมาย และชี้แจงทำความเข้าใจวิธีการการมอบตัวทางกฎหมายและ 4.กลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบ ที่เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งออกมาตรการในการปิดล้อมตรวจค้น เพื่อกดดันตามมาตรการทางยุทธการควบคุมกับกฎหมาย
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทหาร 8 นายจะเชื่อมโยงกับข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต้องการให้ถอนทหารออกนอกพื้นที่หรือไม่
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หลายเรื่อง ทั้งการคุมกันเองไม่ได้ ความไม่จริงใจ หรืออาจจะมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นเงื่อนไขมาแล้วเราไม่ยอมรับ ซึ่งข้อเสนออยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ดังนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบจึงได้พยายามก่อเหตุให้สอดคล้องกับสิ่งที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอมา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความไม่จริงใจ แต่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่ได้ลดมาตรการ โดย ผบ.ทบ.ได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ว่า ถึงจะมีการพูดคุยหรือไม่มีการพูดคุยมาตรการทุกอย่างจะต้องเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุ ต้องการแสดงออกว่าไม่สามารถคุมกันได้ รวมถึงกลุ่มที่ยื่นข้อเสนอมาให้อาจจะต้องการให้มีปฏิบัติการอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้สิ่งที่ยื่นข้อเสนอมีพลังมากขึ้น
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองทัพบกขอยกย่องในวีรกรรมของผู้ที่เสียชีวิตทุกท่าน
และยืนยันว่าจะดูแลในเรื่องสิทธิกำลังพลให้อย่างสมเกียรติ ทั้งตามระเบียบที่ราชการกำหนดและตามช่องทางสมทบอื่นๆ ทั้งนี้การกระทำของผู้ก่อเหตุไม่ว่าจะครั้งใดก็ตาม ประชาชนคนไทยทุกคน รวมถึงพี่น้องชาวมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการกระทำของผู้ก่อเหตุในทุกเหตุการณ์ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดวิสัยของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะอ้างถึงความชอบธรรมใดๆก็ตาม จึงขอให้สังคมช่วยกันรุมประณามต่อการกระทำดังกล่าวด้วย
"ผบ.ทบ.ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเร่งติดตามเอาคนผิดมาเข้ากระบวนการยุติธรรมให้ได้ พร้อมทั้งยังคงเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับเป้าหมายทุกๆเป้าหมายอย่างเข้มงวด และเพิ่มการ รักษาความปลอดภัยให้กับตนเองให้ดีที่สุด ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีเรื่องการเจรจา และหลายฝ่ายมองว่าเหตุความรุนแรงน่าจะลดลงบ้าง แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้เชื่อมั่นไว้วางใจต่อกระแสดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางครั้งกลับส่งผลในทางตรงข้าม เจ้าหน้าที่จึงยังคงต้องมุ่งมั่นในจุดยืนหลักก็คือการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อกดดันผู้กระทำความผิดต่อไป ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่มีความพร้อมเข็มแข็ง และยังคงมุ่งมั่นต่อการทำหน้าที่ และที่สำคัญจะไม่เพลี่ยงพล้ำด้วยการถูกล่อลวงให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายตรงข้ามเป็นอันขาด จะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักกฎหมายและความถูกต้อง" รองโฆษกกองทัพบก กล่าว
พ.อ.วินธัย ยังกล่าวถึงกรณีที่น.ส.ซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา จ.นราธิวาส
และนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นว่าข้อเสนอการถอนกำลังทหารของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่เคยเรียกร้องมานานแล้วและทุกวันนี้ก็ยังเรียกร้องอยู่ โดยเฉพาะกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ3 ว่าที่ผ่านมาทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ได้มีการปรับลดกำลังทหารจำนวน 5 กองพัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เรื่องการลดกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1,2และ3 ในอนาคตก็อยู่ในแผนงานที่ได้กำหนดเป็นขั้นตอน เพียงแต่ต้องดูเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะอยู่ในการแก้ปัญหาช่วงระยะที่3 คือขั้นการเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการส่งมอบพื้นที่ให้กำลังประจำถิ่น และเฉพาะทหารของกองทัพภาคที่4 ดูแลเป็นหลัก ปัจจุบันหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่คือการรักษาความปลอดภัยให้กับคนจำนวนกว่า 2ล้านคน ไม่ได้ใช้กำลังไปสู้รบโดยตรง มีเพียงเฉพาะคนไม่ดีที่พยายามทำผิดกฎหมายจึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการสืบสวน การออกหมายจับ บางครั้งเมื่อขัดขืนก็นำไปสู่การปะทะและการวิสามัญ
"ทหารไม่ว่าจะจากกองทัพภาคที่ 1,2และ3 เมื่อจะลงปฏิบัติงานในพื้นที่มีการเตรียมการ มีการฝีกอบรมความรู้ที่จำเป็นทั้งด้านสังคม จิตวิทยาและกฎหมาย ไม่สามารถจะทำอะไรที่ผิดๆได้ ขออย่าได้หวาดระแวงในตัวเจ้าหน้าที่ ต้องรู้เท่าทันความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่พยายามสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่คือผู้ร้าย เพื่อผลในทางจิตวิทยา เหมือนในอดีตที่เคยใช้จนเกือบได้ผล แต่วันนี้ความจริงเริ่มปรากฏชัดแล้ว ในขณะนี้ยังมีสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ จะหาเหตุผลไปตอบสังคมอย่างไรว่าจะต้องลดกำลังทหาร ที่สำคัญยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชาชน คงเป็นไปได้ยากที่จะปฏิบัติตามคำร้องขอที่ขัดต่อหลักเหตุผลและความเป็นจริงได้ บางคนอาจไม่ต้องการเพราะไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ในหลายพื้นที่มีความเดือดร้อนสูงจึงยังคงมีความต้องการเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามการจะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านด้วย" รองโฆษกกองทัพบก กล่าว.