เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ได้แถลงข่าว
การประกาศรายชื่อบุคคลไทยที่ถูกกำหนดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ประจำปี 2556 โดยระบุว่า จากกรณีคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force) หรือ FATF มีคำประกาศสาธารณะกำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินแก้ไข ข้อบกพร่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการให้สามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างจริงจัง โดยสำนักงาน ปปง.ได้ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายตามมติภายใต้คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UN)แล้ว เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด รวมทั้งสิ้น 291 ราย ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา 227 ราย นิติบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กร 64 ราย ไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา
“นอกจากนี้การดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย จากข้อมูลการก่อเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รวบรวมพยานหลักฐาน ทำให้มีการออกหมายจับกว่า 4,000 ราย ด้านคณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาแล้วมี 67 รายชื่อจึงส่งให้อัยการดำเนินการส่งสำนวนต่อให้ศาลแพ่งพิจารณาเป็นรายๆไป ซึ่งจะมีการทยอยประกาศรายชื่อ” เลขาธิการ ปปง. กล่าว
เลขาธิการ ปปง. กล่าวอีกว่า ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้
1.นายอำรัน มิง 2.นายอาหะมะ กาเจ 3.นายอับดุลเล๊าะฮ์ มะมิง เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 จะต้องระงับการทำธุรกรรมการเงินของบุคคลทั้งสามและต้องแจ้งให้ปปง.ทราบภายใน 3 วัน มิฉะนั้น จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนเงินที่สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติด และธุรกิจค้าของเถื่อน โดยให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ก่อการร้าย