ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง โดนแบน คณะกก.เซ็นเซอร์สั่งห้ามฉายในราชอาณาจักร

ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง โดนแบน คณะกก.เซ็นเซอร์สั่งห้ามฉายในราชอาณาจักร


อนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรมไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง "Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย โดยอ้างเหตุผลว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย


โดยเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับ ได้แสดงความคิดเห็นในหน้าเพจเฟซบุ๊ก "Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" หลังทราบผลว่า:



"ผลการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ของคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย ด้วยเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และการนำเสนอข้อมูลบางเหตุการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยไม่มีบทสรุปทางเอกสาร


จากย่อหน้าข้างต้นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย โดยข้อมูลทั้งหมดที่ผมได้จากการลงไปยังพื้นที่จริงจากมุมมองของประชาชนใน พื้นที่จริงที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน ไทย - กัมพูชา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อพิพาทกรณีเขาพระวิหาร ส่วนหนึ่งทางผู้สร้างต้องการให้ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เป็นพื้นที่การแสดงออกให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริงๆได้แสดงมุม มอง ทัศนคติ และ ความคิดเห็นที่พวกเค้าไม่มีโอกาสได้สื่อและได้พูดออกมาสู่สาธารณชนได้รับรู้ ประชาชนควรมีสิทธิได้พูดในสิ่งที่คิด และภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเป็นการนำสารของประชาชนทุกฝ่ายมาสู่สาธารณชน และอยากให้ฟังความคิดเห็นที่ต่างกันและอยู่ร่วมกันได้ในสังคม และยังคงเชื่อว่าประชาชนไทยมีวิจารณญาณในการทำความเข้าใจในชุดข้อมูลนี้ด้วย ตัวของพวกเขาเอง


ถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ ผมจะยื่นอุธรณ์ในขั้นต่อไป และแม้ในท้ายที่สุด ภาพยนตร์จะไม่ได้รับอนุญาต ผมก็จะถ่ายทอดสิ่งที่ผมได้พบเห็น ได้พูดคุย ได้เข้าใจ จากการลงพื้นที่จริงบริเวณชายแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ผ่านการพูดและการเขียนของผมต่อไป"


นนทวัฒน์ นำเบญจพล



โดยข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท ได้ระบุเนื้อหาของผลการพิจารณาไว้ดังนี้


ผลการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาสาระโดยรวม...เป็น เรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ พืนที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ของกรุงเทพฯ ที่ประชาชนใช้เป็นสถานที่จัดงานฉลองปีใหม่ รวมไปถึงการชุมนุมของมวลชนและความสูญเสีย จนกระทั่งนำเสนอภาพวิถีชีวิตของคนในต่างจังหวัดและชีวิตของคนชายแดนทั้งหมู่ บ้านภูมิซรอล ติดกับเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ และบริเวณปราสาทตาควาย ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์



เนื้อหาสาระและข้อสังเกตของภาพยนตร์ มีรายละเอียดดังนี้


1 บทบรรยายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้อง ดังเช่น ในนาที 0.29 "งานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา" เมื่อนำเหตุการณ์มาเชื่อมโยงกับสถาบันฯ แล้วให้ชื่อว่า "ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง" อาจทำให้ผู้ดูแปลความหมายไปในทางที่คลาดเคลื่อน เพราะรายละเอียดของภาพยนตร์ไม่ได้สอดรับกับชื่อ หรือ ผู้สร้างคิดและต้องการสื่ออะไร? เหตุการณ์ที่นำมาเผยแพร่อ้างว่าเป็น สารคดี แต่เป็นการสรุปความเห็นโดยผู้จัดทำ ซึ่งบางเหตุการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังไม่มีบทสรุปทีเป็นเอกสารอื่นใดมาประกอบการอ้างอิงให้ชัดเจนและเหตุการณ์ เหล่านั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่? เช่น นาที 1.48 พื้นที่นี้ "เคยมีการปิดล้อมสังหารหมู่ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัด" นาที 1.58 "มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน" นาที 2.04 "ชาวกรุงเทพและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยหลายคนสนับสนุน และรู้สึกสะใจกับการปราบปรามการชุมนุมในครั้งนี้” นาที 2.09 รัฐบาลไทยในสมัยนั้นอ้างว่าเป็นการกระทำของมือที่ 3 เพื่อสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายรัฐบาล” นาที 2.17 “กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและผู้สนับสนุนเชื่อว่เป็นการกระทำของรัฐบาลและ ทหาร” นาที 2.29 “ชาวกรุงเทพฯและผู้ไม่สนับสนุนหลายคนกล่าวชื่นชมรัฐบาลและทหาร”นาที 2.44 “ชาวต่างจังหวัดถูกปรามาสว่าโง่ เห็นแก่เงิน” นาที 45.00 “รัฐบาลไทบและกัมพูชา จดทะเบียนเขาพระวหารเป็นมรดกโลก” ฯลฯ การบรรยายด้วยตัวอักษรในภาพยนตร์ ที่ให้ข้อสังเกต ในบางช่วงขัดแย้งกับภาพ เพราะในภาพเป็นวิวในชนบท


2 เนื้อหามีความหมายในลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดระหว่างคนในชาติ ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี เป็นลักษณะที่ต้องไม่มีตามกฎกระทรวง ข้อ 7(3)


3 เนื้อหากระทบต่อคความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ในกรณีที่มีการนำภาพทหารชายแดนยิงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม และการนำภาพลักษณะที่ตั้งของหลุมหลบภัย และการพูดถึงทหารเขมร ทำการย่ยหลักเจตแดน เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นลักษณะที่ต้องไม่มีตามกฎกระทรีวง ข้อ 7 (4)



คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาและภาพของภาพยนตร์ดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ และไม่ควรอนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามกฎกระทรวงเรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ7 (3) และ 7 (4)



ขอบคุณภาพจาก prachatai.com



จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายด้วยเหตุผลดังกล่าว อาทิ:


1. คนกราบหมา
2. Insects in the Backyard
3. Shakespeare Must Die : เชคสเปียร์ต้องตาย
4. Boundary : ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง
5. Syndromes and a Century : แสงศตวรรษ
6. บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน This Area is under Quarantine



โดยหลังจากข่าวการห้ามฉายดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ออกไป ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ และวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเซ็นเซอร์ของหน่วยงานราชการไทย จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ดังนี้



“ขอไว้อาลัยให้ ... ประเทศที่สั่งห้ามฉายหนังครอบครัวด้วยข้อหาว่า ‘มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ หนังจากงานวรรณกรรมคลาสสิคด้วยข้อหา ‘มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ หนังสารคดีกึ่งท่องเที่ยว (ของเรา) ด้วยข้อหา ‘มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’?????????? แล้ว ความสงบเรียบร้อย - ศีลธรรมอันดีของประชาชน มันคืออะไร”


“เมื่อสองปีที่แล้ว เราถึงกับหลั่งน้ำตาหลังได้อ่านคำตัดสินจากกองเซ็นเซอร์ที่ไม่อนุญาตให้ Insects in the Backyard ฉาย รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจที่หนังสักเรื่องจะป่าวร้องกับสังคมแต่ก็ถูกปิดกั้น เสียใจที่อุตส่าห์วางแผนว่าจะพาแม่ไปดู แต่แม้แต่แม่วัย 60 ก็ยังไม่ได้ดู ปีต่อมา เราได้ยินข่าวเดิม แต่หวยไปออกที่ เชคสเปียร์ต้องตาย ความสะเทือนใจใดๆ มันเหือดหายไปเยอะ แทนที่ด้วยความหงุดหงิดจิตใจที่ทำไมเรื่องเดิมๆ ยังต้องเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง ทั้งที่คดีเก่ายังค้างเติ่งในศาล ...วันนี้ที่ทั้ง Insects in the Backyard และ เชคสเปียร์ต้องตาย ยังกองรวมกันอยู่ในศาล ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ หนังที่พาเราเข้าไปเจอ ‘บรรยากาศจริง’ ในพื้นที่พิพาทเขาพระวิหาร ก็กำลังเดินทางไปอยู่รวมกับหนังสองเรื่องข้่างบน ความรู้สึกหลายๆ อย่างยังจุกคอหอยเช่นเคย แต่มันก็มาพร้อมกับความเหนื่อยหน่ายที่จะต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคาดว่าคงจะได้พูดเรื่องนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ อย่างหมดหวัง”


“ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ฉันหายใจได้ไหม”


“มีแต่ประเทศที่ความมั่นคงของราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี วิถีชีวิตอันสงบสุข ฯลฯ อยู่ในสภาพเปราะบาง อ่อนแอ แตกหักง่าย บุบสลายง่าย อ่อนไหวขนาดหนักเท่านั้น จึงจะต้องการการคุ้มครองป้องกันอย่างเคร่งครัดเข้มงวดมิดชิดเช่นนี้”


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์