ดีเดย์พ.ค.ช่อง7ขึ้นโฆษณาน็อนไพรมไทม์ยกแผง
โฆษณาฟรีทีวีหนุนภาพรวมอุตสาหกรรมโต ความต้องการตลาดล้น ช่อง 7 ขยับขึ้นโฆษณาน็อนไพรมไทม์ 7 รายการรวด มายด์แชร์ชี้เรตติ้งวิกหมอชิตยังครองใจผู้ชมทั่วประเทศ บวกกับการปรับคอนเทนต์ เพิ่มรายการใหม่ ดึงฐานผู้ชมเพิ่มอีก
รายงานข่าวจากวารสารมีเดียแฟลช (ฉบับที่ 157) ประจำเดือนเมษายน ของบริษัท ประกิต โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 ได้ส่งจดหมายถึงเอเยนซี่โฆษณา เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการประกาศปรับราคาค่าโฆษณารอบใหม่ ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยรายละเอียดการปรับ คือ ช่วงน็อนไพรมไทม์รวม 7 รายการ ได้แก่ บิ๊กซีเนม่า ปรับจาก 265,000 บาทต่อนาที เป็น 300,000 บาทต่อนาที และให้ส่วนลด 15% เช่นเดิม, ละครรีรันวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00 น. จาก 160,000 บาทต่อนาที เป็น 180,000 บาทต่อนาที และให้ส่วนลด 15% เช่นเดิม, ข่าวภาคค่ำช่วงที่ 1 จาก 160,000 บาทต่อนาที เป็น 200,000 บาทต่อนาที ส่วนลด 15% เท่าเดิม
ตามด้วยละครเย็น เวลา 18.00 น. จาก 320,000 บาทต่อนาที เป็น 370,000 บาทต่อนาที ส่วนลด 15% เท่าเดิม แซทโซน คืนวันเสาร์ เวลา 00.40 น. จาก 90,000 บาทต่อนาที เป็น 120,000 บาทต่อนาที ส่วนลด 30% เท่าเดิม รายการดิสนีย์คลับ จาก 130,000 บาทต่อนาที เป็น 150,000 บาทต่อนาที ส่วนลด 20% จากเดิม 30% และการ์ตูนช่วงเช้าวันอาทิตย์ เวลา 07.30 น. จาก 110,000 บาทต่อนาที เป็น 150,000 บาทต่อนาที ปรับส่วนลดเหลือ 20% จากเดิม 30%
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การปรับค่าโฆษณาดังกล่าว รายการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ รายการดิสนีย์คลับ และรายการการ์ตูน ช่วงเช้าวันอาทิตย์ เนื่องจากค่าโฆษณาที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ส่วนลดที่เคยได้ถึง 30% ก็ได้ลดเพียง 20% เท่ากับว่าจะต้องมีต้นทุนค่าโฆษณาที่เพิ่มขึ้นเป็น 31.9% และ 55.8% ตามลำดับ
นางสาวนภาพร เจตะวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การซื้อสื่อ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ช่อง 7 ตัดสินใจปรับค่าโฆษณาใหม่สำหรับช่วงน็อนไพรมไทม์ ส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณายังเติบโตจากสื่อทีวีเป็นหลัก แบรนด์สินค้ายังมีความต้องการซื้อโฆษณาบนสื่อทีวีอยู่สูง สวนทางกับเวลาที่มีกำจัด ทำให้ช่อง 7 ปรับค่าโฆษณารอบใหม่
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าในแง่ของเรตติ้งแล้วช่อง 7 ยังสามารถครองใจกลุ่มผู้ชมทั่วประเทศไว้ได้ บวกกับการปรับปรุงคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มรายการ ปรับเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ ทำให้ฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น แม้ว่าในแง่ของต้นทุนค่าเฉลี่ยต่อหัว (CPRP : Cost Per Rating Point) จะสูงขึ้นก็ตาม
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่อง 7 ได้ปรับค่าโฆษณาบางรายการไปแล้วครั้งหนึ่ง เช่น ที่นี่ หมอชิต จาก 320,000 บาทต่อนาที เป็น 330,000 บาทต่อนาที จันทร์พันดาว จาก 340,000 บาทต่อนาที เป็น 350,000 บาทต่อนาที วันวานยังหวานอยู่ จาก 320,000 บาทต่อนาที เป็น 360,000 บาทต่อนาที และรายการซีซั่นนอลโปรแกรม 2 รายการใหม่ คือ เดอะ
คอมเมเดียน ไทยแลนด์ ช่วงเวลา 15.45 น. จาก 320,000 บาทต่อนาที เป็น 330,000 บาทต่อนาที และซีซั่นนอลโปรแกรมในวันอังคาร เวลา 22.30 น.จาก 320,000 บาทต่อนาที เป็น 330,000 บาทต่อนาที
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของช่อง 3 นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ช่อง 3 ได้ปรับขึ้นค่าโฆษณาไปแล้ว โดยปรับลดตัวแถมลง อาทิ ถ้าซื้อโฆษณาช่วงไพรมไทม์ หรือละครหลังข่าว 2 สปอต แถม 1 สปอต ในช่วงละครรีรันตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น โดยการปรับครั้งนี้จะตัดตัวแถม 1 สปอตออกไป
รวมทั้งปรับค่าโฆษณาในบางรายการ ทั้งรายการของสถานีและผู้ผลิตบางราย โดยรายการของสถานีที่ปรับขึ้น คือ เรื่องเด่นเย็นนี้ จาก 175,000 บาทต่อนาที เป็น 200,000 บาทต่อนาที ภาพยนตร์ซีรีส์จาก 330,000 บาทต่อนาที เป็น 360,000 บาทต่อนาที ชุมชนนิมนต์ยิ้ม ปรับเป็น 330,000 บาทต่อนาที จากเดิม 290,000 บาทต่อนาที โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนผลิตและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่เวลาโฆษณาเท่าเดิม โดยเฉลี่ยปรับขึ้นราว 8-10%
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาจากข้อมูลของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ระหว่าง ม.ค.-มี.ค. ปีนี้มีมูลค่ารวม 26,243 ล้านบาทโต 1.8% จากปีก่อน โดยทีวีมีมูลค่า 16,450 ล้านบาทโต 4.9% จากปีก่อน ส่วนวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์มีการเติบโตที่ลดลง