เคอร์ฟิวใต้‘ส่อแท้ง’ ปชช.ไม่เอา สมช.แบสถิติเท่าเดิม ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น

เคอร์ฟิวใต้‘ส่อแท้ง’ ปชช.ไม่เอา สมช.แบสถิติเท่าเดิม ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

โดยในช่วงหนึ่งมีการหารือถึงสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยนายกฯสั่งให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ติดตามทั้งเรื่องการใช้งบประมาณกำลังพล และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ นายกฯ ยังกำชับให้ร.ต.อ.เฉลิม แยกฐานข้อมูลการก่อเหตุให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าหลายเหตุการณ์ไม่ใช่การก่อเหตุเพื่อแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว โดยอาจเป็นเรื่องส่วนตัวหรือประเด็นอื่นๆจึงต้องการให้แยกข้อมูลเหล่านี้ให้แน่ชัด

พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดให้ร.ต.อ.เฉลิม เรียกประชุมเพื่อบูรณาการทั้งหมด ในวันที่ 15 ก.พ.

โดยเฉพาะการพิจารณาว่าจะการประกาศใช้เคอร์ฟิวหรือไม่ ซึ่งตนไม่ได้อยู่ร่วมประชุม แต่ได้มอบหมายให้ร.ต.อ.เฉลิมเป็นประธานการประชุม และหากที่ประชุมเห็นชอบในแง่ของกฎหมายต้องกลับไปที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีกครั้ง

ทางด้านร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ถ้าการประชุมในวันที่ 15 ก.พ.เสียงส่วนใหญ่ไม่เอา ก็ไม่เป็นไร ตนไม่ใช่คนดื้อดึง ไม่มีเสียหน้า ไม่มีเสียใจ


ขณะที่พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวย้ำว่า การประชุมศปก.กปต.วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า สุดท้ายแล้วมีความจำเป็นแค่ไหนในการประกาศเคอร์ฟิว หรือมาตรการป้องกันออกนอกพื้นที่ในตอนกลางคืน โดยแนวทางที่นายกฯ ให้ไว้คือต้องฟังเสียงของประชาชนและต้องฟังเสียงทหารและตำรวจในพื้นที่ด้วย

“เท่าที่ประชาชนในพื้นที่หลายส่วนได้สะท้อนมาว่า ไม่ได้อยากให้มีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้อยู่”เลขาธิการ สมช.กล่าว

พร้อมระบุว่า หลักการพิจารณาที่จะประกาศใช้เคอร์ฟิวส์หรือไม่ต้องดูที่สถิติความรุนแรงประกอบด้วย ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ยังอยู่ในกรอบ ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบจำนวนสถิติเมื่อปี 48 คือจำนวนครั้งยังเท่าเดิม

เช่นเดียวกับพ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค4ส่วนหน้า) กล่าวว่า
 
ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ เมื่อปี 2547 ต่อมาเดือนมี.ค. ปี 2550 ได้ประกาศใช้เคอร์ฟิว ในพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา ของ จ.ยะลา และได้ประกาศยกเลิกการใช้เคอร์ฟิว เมื่อปี 2552 รวมระยะเวลาใช้กว่า 2 ปี

“การประกาศใช้เคอร์ฟิว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอย่างรอบด้าน ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้เป็นนโยบาย คิดว่าในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะมีการวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง ว่าจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวนำมาใช้ในพื้นที่หรือไม่” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์