เพิ่มโทษกวาดล้าง'กำราบ'คนใช้อาวุธปืน
เพิ่มโทษ...กวาดล้าง 'กำราบ'คนใช้อาวุธปืน : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา (สบ 10) โดยพัฐอร พิจารณ์โสภณ
สถิติการจับกุมปืนไม่มีทะเบียนในปัจจุบัน นับวันยิ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การครอบครองและเป็นเจ้าของอาวุธปืนในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากนัก จนกลายเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถนำอาวุธปืนดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคดีประทุษร้ายและผู้ค้ายาเสพติด พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา (สบ 10) ซึ่งรับมอบหมายให้ร่วมดูแลงานด้านการปราบปรามอาชญากรรมนั้น มีแนวทางแก้ไขปัญหาอาวุธปืนเกลื่อนเมืองอย่างไร?
-เหตุใดอาวุธปืนจึงมีเกลื่อนเมืองและกวาดล้างควบคุมไม่ได้
ปัญหาอาวุธปืนในปัจจุบันกลายเป็นค่านิยมที่ต้องมีการพกปืนไว้เพื่อความเท่ อาจจะเริ่มแค่พกไว้เฉยๆ ไม่ได้ไปก่อเหตุ แต่เมื่อเข้าไปสู่สถานการณ์ที่จวนตัวหรือมีเหตุทะเลาะวิวาทจึงเกิดความโมโห ใช้อาวุธปืนที่พกติดตัวไว้เฉยๆ นั้น ออกมาก่อเหตุ ส่วนใหญ่คนนิยมมีอาวุธเพื่อ 1.ป้องกันตัว ป้องกันทรัพย์สิน 2.ใช้เป็นอาวุธเวลามีปัญหาการทะเลาะวิวาท ทำให้การกวาดล้างแต่ละครั้งมีการจับได้เยอะมาก โดยอาวุธปืนที่กวาดล้างและตรวจค้นได้ในปัจจุบันนั้น จะมีทั้ง ปืนมีทะเบียน และ ปืนไม่มีทะเบียน การก่อเหตุในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นปืนไม่มีทะเบียน หรือปืนเถื่อนเป็นจำนวนมาก เมื่อมีความต้องการมากขึ้น การลักลอบนำมาขายกันมากขึ้น ส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายจะเป็นวัยรุ่น กลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มติดตามผู้ค้ายาเสพติด ผู้ติดตามนักการเมือง ก็จะมีทั้งปืนเถื่อนที่ไม่ได้จดทะเบียนและก็ปืนไทยประดิษฐ์
ทางตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการดำเนินการกวางล้างจับกุมอาวุธปืนอยู่ตลอด แต่บทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตาม พ.ร.บอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ.2490 ในปัจจุบันนี้ มีเพียงการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจจับและดำเนินคดีในความผิดที่มีโทษทางอาญาในบางมาตรา ส่วนอำนาจในการควบคุมดูแลและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้มีและใช้ ผู้ทำ ผู้ประกอบ ซ่อมแซม หรือนำเข้าอาวุธปืนต่างๆ นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนงานนิติการ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำให้บทบาทของตำรวจจึงค่อนข้างจำกัด
-มาตรการในการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับอาวุธปืน
ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กำลังมีการประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือในเรื่องการเก็บข้อมูล เนื่องจากเขาเป็นคนที่อนุญาตก็จะมีการเก็บข้อมูลไว้ ปัจจุบันเมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางเราจะขอความร่วมมือเขาเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำปลอกกระสุนมาเปรียบเทียบ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้มีโครงการจัดเก็บข้อมูล หัวกระสุนปืนเพื่อเป็นฐานข้อมูลประวัติอาวุธปืนที่นายทะเบียนได้ออกใบอนุญาตให้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 โดยนำอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตไปทำการยิงเก็บหัวกระสุน จากนั้นนำไปบันทึกข้อมูลด้วยเครื่องตรวจหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนอัตโนมัติ ซึ่งเรียกว่า โครงการ IBIS (Intergrated Ballistic Identification System) สำหรับใช้ในการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดเพื่อเป็นการสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนและการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวดำเนินการเฉพาะผู้ขออนุญาตรายใหม่ ยังไม่ครอบคลุมอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว การดำเนินการดังกล่าวต้องมีความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ในการเรียกอาวุธปืนในพื้นที่มาตรวจสอบสถานภาพและเก็บประวัติให้เป็นสารบบ และควรใช้ข้อมูลร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานของทั้งสองหน่วย ซึ่งจะมีการประสานงานขอความร่วมมือกันเร็วๆ นี้
-กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ล้าสมัยเกินไปหรือไม่
สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากของการปราบปรามคือ โทษในบ้านเราไม่หนัก ควรจะมีการทบทวนในเรื่องของการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับอาวุธปืนให้ทันสมัย รวมทั้งการแก้ไขเกี่ยวกับบทกำหนดโทษในข้อหาที่สำคัญ ขณะนี้ในหลายประเทศได้กำหนดโทษการมีและการใช้อาวุธปืนไว้อย่างหนัก เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อไม่ให้มีช่องว่างที่คนร้ายจะนำอาวุธปืนมาใช้ในการกระทำความผิด รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดมาตรการควบคุมการขออนุญาตและการใช้อาวุธเข้มข้นมาก โดยเฉพาะการตรวจประวัติผู้จะขออนุญาต จึงเห็นได้ว่า ทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะจำกัดการมีและใช้อาวุธปืนของบุคคลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคดีอาญาที่เกิดจากการใช้อาวุธปืนมากขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ บทลงโทษของ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 นั้น มีบทลงโทษสำหรับผู้มีและใช้อาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (ปืนเถื่อน) มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท ส่วนอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาต (ปืนผิดมือ) มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี ปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ส่วนโทษเกี่ยวกับความผิดพกพาอาวุธติดตัวในเมืองฯ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อมีการดำเนินคดีถึงชั้นศาล หากไม่มีข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ผลคดีที่เกี่ยวกับอาวุธปืนเหล่านี้มักเป็นบทลงโทษปรับหรือรอลงอาญาเป็นส่วนใหญ่ มีผลให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย รวมทั้งการติดตามบังคับใช้กฎหมายในการถอนใบอนุญาตผู้มีและใช้อาวุธปืนก็ไม่มีการดำเนินเป็นรูปธรรม
-สถานการณ์เกี่ยวกับอาวุธปืนในปัจจุบัน
ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 พบว่าปัจจุบันมีร้านค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ได้รับอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 502 ใบอนุญาต แยกเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร 381 ใบอนุญาต ในจังหวัดอื่น 121 ใบอนุญาต ส่วนรายละเอียดอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งหมดที่อนุญาตให้ครอบครองในปัจจุบัน มีดังนี้ อาวุธปืนที่อนุญาตให้บุคคลครอบครองทั่วประเทศมี 2 ประเภท คือ 1.อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก 2.อาวุธปืนยาว 2,476,3030 กระบอก จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่า มีปืนถูกกฎหมายในประเทศไทยถึง 6.2 ล้านกระบอก จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 63 ล้านคน ซึ่งสามารถคำนวณง่ายๆ คือ ทุก 10 คน จะมีปืนถูกกฎหมาย 1 กระบอก โดยยังไม่รวมปืนเถื่อนและปืนไทยประดิษฐ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติการจับกุมคดีที่เกี่ยวกับมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำแนกเป็นปืนที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียน ตั้งแต่ปี 2552-2555 มีดังนี้ ปี 2552 ปืนมีทะเบียน 5,647 คดี ปืนไม่มีทะเบียน 687 คดี ปี 2553 ปืนมีทะเบียน 3,182 คดี ปืนไม่มีทะเบียน 3,177 คดี ปี 2554 ปืนมีทะเบียน 1,882 คดี ปืนไม่มีทะเบียน 6,701 คดี ปี 2555 ปืนมีทะเบียน 2,354 คดี ปืนไม่มีทะเบียน 7,873 คดี
-แนวทางปราบปรามกวาดล้างอาวุธปืน
เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีข้อมูลท้องถิ่น เกี่ยวกับผู้ทำหรือผลิตอาวุธปืน(เถื่อน)ในพื้นที่ กลุ่มซุ้มมือปืนรับจ้าง เพื่อตรวจค้นจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการนำอาวุธปืนไปใช้ในการกระทำความผิดต่างๆ และเจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจค้น ปิดล้อมพื้นที่เป้าหมายและมีการตั้งด่านระดมกวาดล้างอาวุธอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถตรวจได้ทุกคันในการตั้งด่าน เพราะจะทำให้เสียเวลาแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกฝึกมาจะสุ่มตรวจและจับพิรุธรถต้องสงสัย ขณะที่แหล่งผลิตอาวุธปืนเถื่อนนั้น ก็มีการติดตาม สืบสวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะหลังลดน้อยลงไปเยอะมาก เมื่อมีการตรวจยึดอาวุธปืนแล้วต้องตรวจสอบว่าเป็นปืนที่มีทะเบียนถูกต้องหรือไม่ หากเป็นปืนไม่มีทะเบียนต้องมีการสืบสวนขยายผลถึงแหล่งที่มาของปืนดังกล่าว ให้ทราบถึงผู้ขายและผู้ผลิต และให้ทลายแหล่งขายแหล่งผลิต ซึ่งเป็นต้นตอของอาวุธเถื่อนที่จะออกมาสู่สาธารณะและให้ติดตามผลจนถึงกระบวนการจำหน่ายของกลางให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
ถ้าหากเป็นปืนที่มีทะเบียนถูกต้อง ต้องมีการตรวจสอบว่า ผู้ครอบครองมีใบอนุญาตพกพาถูกต้องหรือไม่ มีการตรวจสอบว่า ผู้ครอบครองขาดคุณสมบัติในการมีใช้หรือพกพาอาวุธปืนหรือไม่ โดยให้ตรวจสอบประวัติผู้ครอบครองว่ามีประวัติการกระทำความผิดหรือมีหมายจับหรือไม่ แล้วให้รายงานเสนอขอเพิกถอนการขออนุญาตให้มี หรือใช้พกพาอาวุธปืนนั้น แล้วส่งอาวุธปืนที่ตรวจพบไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบการกระทำความผิดในคดีต่างๆ และยิงเก็บปลอกกระสุน หัวกระสุน ไว้เป็นฐานข้อมูลในสารบบของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทั้งนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาตรการอย่างเคร่งครัดในการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการจับอาวุธปืนได้มากขึ้น ผมเชื่อว่าอาวุธปืนในสังคมไทยนั้น ต้องลดลงให้ได้มากที่สุด
.................
(หมายเหตุ : เพิ่มโทษ...กวาดล้าง 'กำราบ'คนใช้อาวุธปืน : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา (สบ 10) โดยพัฐอร พิจารณ์โสภณ)