คนไทยฟ้องศาลปีละ 3 ล้านคดี จัดการมรดกพุ่งพรวด เฉียด 80,000 คดี/ปี
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอาชญากรรม คนไทยฟ้องศาลปีละ 3 ล้านคดี จัดการมรดกพุ่งพรวด เฉียด 80,000 คดี/ปี
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม
แถลงผลงานการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2555 สถิติคดีของศาลชั้นต้นทั้งหมด 1,035,177 คดี รวมกับคดีที่ค้างมาปีก่อน 1,206,528 คดี คดีพิจารณาแล้วเสร็จ 1,046,052 คดี คิดเป็น 86.70% แยกเป็นคดีอาญา 502,807 คดี คดีแพ่ง 532,370 คดี คดีอาญาเยาวชน 25,718 คดี คดีผู้บริโภค 317,276 คดี และคดีล้มละลาย 6,827 คดี ข้อสังเกตคือ ในรอบ 3 ปีมีคดีเกิดขึ้นและฟ้องต่อศาลยุติธรรมประมาณ 3 ล้านคดีต่อปี หากประชากรของประเทศมี 70 ล้านคนเท่ากับว่า 70 คน เป็นความ 1 คน
นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณา 1-5 อันดับ ตั้งแต่ตุลาคม 2554-กันยายน 2555 ในคดีแพ่งคือ 1.ขอจัดการมรดก 79,031 ข้อหา 2.ละเมิด 21,947 ข้อหา 3.กู้ยืม 11,933 ข้อหา 4.ซื้อขาย 6,231 ข้อหา และ 5.ขับไล่ 5,604 ข้อหา ส่วนคดีอาญา 1.พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 273,476 ข้อหา 2.พ.ร.บ.จราจรทางบก 132,532 ข้อหา 3. พ.ร.บ.การพนัน 49,572 ข้อหา 4.พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน 32,323 ข้อหา 5.ความผิดฐานลักทรัพย์ 28,127 ข้อหา
นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ส่วนสถิติของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในปี 2555 คดีที่มีการอุทธรณ์ทั้งหมด 10 ศาล จำนวน 45,875 คดี คิดเป็น 4.45% ของคดีทั้งหมด ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีแล้วเสร็จ 53,719 คดี คิดเป็น 71.79% คงคดีค้าง 21,109 คดี ส่วนศาลฎีกามีการฎีกาคดีสู่ศาลฎีกาในปี 2555 จำนวน 13,294 คดี คิดเป็นร้อยละ 28 ของคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาทั้งหมด พิจารณาแล้วเสร็จ 17,639 คดี คงคดีค้าง 33,616 คดี
นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่ตุลาคม 2554-กันยายน 2555 มีคดีแพ่งเข้าสู่การไกล่เกลี่ย 172,920 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 129,952 คดี ไม่สำเร็จ 17,278 จำหน่ายคดี 17,276 คดี ทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 236,980,651,439.01 บาท ขณะที่ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีคดีอาญา มีคดีไกล่เกลี่ย 10,335 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,813 คดี ไม่สำเร็จ 2,235 คดี จำหน่ายคดี 1,353 คดี ถอนฟ้อง 5,205 คดี ยอมความ 10, 256 คดี
ทั้งนี้ ยังเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 สิ่งที่ดำเนินการไว้แล้ว เช่น ศาลชำนัญพิเศษเชิญวิทยากรต่างประเทศมาสนทนาแลกเปลี่ยนประเด็นทางกฎหมายและระบบที่ต้องปรับเปลี่ยน อบรมภาษาอังกฤษ ภาษาท้องถิ่น เช่น ยาวี แก่ข้าราชการศาลทั่วประเทศ โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว