ศาลชี้ ‘เด็กชายอีซา’ ตายจากกระสุนจนท. ปฏิบัติตามคำสั่งศอฉ.
ศาลชี้ ‘เด็กชายอีซา’ ตายจากกระสุนจนท. ปฏิบัติตามคำสั่งศอฉ. เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งผลไต่สวนหาสาเหตุการตายคดีของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี หรือ ‘อีซา’ ว่าถูกกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ขณะยิงสกัดรถตู้ของนายสมร ไหมทอง ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ โดยมีรูกระสุนรอบคันรถ ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลัง ทะลุเข้าช่องท้อง ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ ช่วงกระชับการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ โดยศาลพิเคราะห์จากเทปบันทึกภาพ และคำเบิกความของพยานที่มีความสอดคล้องกัน ประกอบกับผลชันสูตรพลิกศพที่แพทย์ ระบุพบเศษกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนสงครามชนิด เอ็ม 16 ในร่างของเด็กชายคุณากรซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ จึงสรุปได้ว่าเด็กชายคุณากร เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ ขณะกำลังถูกส่งไปโรงพยาบาล สำหรับคดีดังกล่าว พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่น คำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาสาเหตุการตายของ ด.ช.คุณากร ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้อง ทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง เหตุเกิดที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ ช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุม นปช. โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคา 2553 โดยขอศาลให้ทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150
คดีนี้ ถือเป็นสำนวนไต่สวนการเสียชีวิตที่ศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นสำนวนที่ 3 จากเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตในการสลายชุมนุมของกลุ่ม นปช. ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2553 โดยก่อนหน้านี้ ศาลอาญามีคำสั่งว่า การเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งร่วมชุมนุมกับ นปช. ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์ สถานีราชปรารภ และนายชาญณรงค์ พลศรีลา แนวร่วม นปช. ที่ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซ.รางน้ำ เมื่อกลางดึกของวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ว่าเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม โดยถึงแก่ความตายขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่ง ศอฉ.