ช็อก8ขวบแขวนคอเลียนแบบละครดัง“คนอวดผี-แรงเงา”

ช็อก8ขวบแขวนคอเลียนแบบละครดัง“คนอวดผี-แรงเงา”


เผยขาดอากาศหายใจนานกว่า 10 นาที เตือนอย่าปล่อยให้เด็กต่ำกว่า 2 ขวบดูทีวี จี้ย้ายละครเนื้อหารุนแรงไปหลัง 4 ทุ่ม ส่วนกรณี ด.ช.14 ติดเกม “พอยท์ แบลงค์” ฆ่าแม่ป่วยเป็นออทิสติก

วันนี้ (1 พ.ย.)ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมาแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องภัยร้ายต่อเด็กจากสื่อทีวี สื่อไอที ดูทีวีแล้วผูกคอตาย เล่นเกมแล้วแทงแม่ตาย

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์นี้มีเหตุร้ายเกิดกับเด็ก 2 รายที่ทำให้สังคมต้องทบทวนว่าการเติบโตของสื่อทีวี สื่อไอทีต่าง ๆ กำลังทำร้ายเด็กหรือไม่ รายแรกเป็น ด.ญ.อายุ 8 ขวบ ถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี เมื่อวันที่ 25 ต.ค. เพราะหมดสติ ขาดอากาศหายใจนานกว่า 10 นาที โดยเด็กรายนี้เล่นแขวนคอโดยนำเศษผ้าและเชือกมาผูกเป็นห่วงกับต้นหูกวาง ห่วงอยู่ห่างจากพื้น 120 ซม. บิดาของเด็กเล่าว่า เด็กดูรายการทีวีมีภาพการแขวนคอตาย 3-4 รายการในเวลาสัปดาห์เดียว คือ คนอวดผีวันที่ 17 ต.ค. วันที่ 24 ต.ค. และละครเรื่องแรงเงาวันที่ 22 ต.ค. ทุกครั้งเด็กจะให้ความสนใจมาก เพื่อนเด็กบอกเช่นกันว่าก่อนเกิดเหตุเด็กหญิงบอกว่าจะไปเล่นแขวนคอ  ตอนนี้เด็กอาการดีขึ้นถอดเครื่องช่วยหายใจแล้วแต่ต้องประเมินความเสียหายทางสมองอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า รายที่ 2 เป็น ด.ช.อายุ 14 ปีจากการสืบประวัติพบว่ามีปัญหาออทิสติกแต่รักษาหายแล้ว ติดเกมเล่นไม่ยอมเลิก แม่มาห้ามไม่ให้เล่นเด็กเลยเอามีดแทงตาย ทั้งนี้ปัญหาเด็กติดเกมทำร้ายผู้ปกครองจนเสียชีวิตเกิดขึ้นในหลายประเทศ  ซึ่งการติดเกมและอินเทอร์เน็ตเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง เด็กที่ติดเกมจะมีพฤติกรรม 4 ลักษณะ คือ เล่นเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดเล่นได้หากไม่ได้เล่นจะรู้สึกหงุดหงิด และมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต้องแยกตัวออกจากสังคม เด็กรายนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ส่งผลให้ทำร้ายแม่ เท่าที่ทราบคือเด็กเล่นเกม “พอยท์ แบลงค์”  อีกทั้งมีปัญหาสุขภาพจิตเดิม แต่การติดเกมจะทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดเล่นได้ หากเล่นไม่ได้หรือถูกห้ามจะรู้สึกหงุดหงิด หรือโกรธ มีพฤติกรรมทำร้ายผู้ขัดขวางการเล่น  ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันเด็กใช้เวลากับสื่ออิเลคทรอนิกส์มากกว่า 4 ชม.ต่อคนต่อวัน

“เด็กที่เปราะบางหรือมีปัญหาสุขภาพจิตมักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเรื่องนี้ได้มีการทดลองแล้วโดยให้เด็กอยู่ในห้องกับตุ๊กตาแล้วเปิดวีดีโอให้เด็กดูเด็กจะทำตามภาพที่ปรากฎ  ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมที่เด็กเลียนแบบได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทุบ ตี ทำร้าย พ่อแม่อย่าเห็นเป็นเรื่องเล่น หากสื่อนำเสนอเนื้อหารุนแรงพ่อแม่ควรมีข้อแนะนำกับเด็กด้วย และควรเลือกสื่อที่มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็ก ถึงเวลาแล้วที่จะมาพูดคุยกันอีกครั้งเรื่องละครที่มีเนื้อหารุนแรงว่าควรจะออกอากาศในเวลาที่เด็กนอนแล้วหรือไม่ คือหลัง 4 ทุ่มไปแล้ว ”รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมาแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสังคมมีมากขึ้น ครอบครัวไม่มีความสุข มีความรุนแรงมากขึ้น   สื่อและทีวีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเด็กและได้มีการเพิ่มความหลากหลายและการเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้เด็กยังมีภาวะติดเกมมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ส่งผลต่อการเรียน ทำให้ระยะหลังมานี้ผู้ชายสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้น้อยกว่าผู้หญิง แม้แต่คณะแพทยศาสตร์ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้หญิงเรียน

“สื่อและทีวีในปัจจุบันหวังรวย หวังกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม มีการนำเสนอคำหยาบ ความรุนแรงต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ผมเห็นว่าละครหรือรายการแบบนี้บริษัทห้างร้านก็ไม่ควรสนับสนุน ทั้งนี้อยากให้สื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ ข่าวดีให้มากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แหงประเทศไทยขอรณรงค์ให้ผู้ปกครองเคร่งครัดในการตรวจสอบการเข้าถึงสื่อทีวี เกม อินเทอร์เน็ต คัดกรองสื่อที่เนื้อหาเหมาะสม และจำกัดเวลาในการใช้ โดยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรเข้าถึงสื่ออิเลคทรอนิกส์เลย ส่วนอายุเกิน 2 ขวบควรใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเล่นกลางแจ้ง ออกกำลังกายดีกว่า.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์