ผงะ!ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตราย
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินโครงการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญในปี 2555 เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์จำนวน 1,871 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 633 ตัวอย่าง คิดเป็น 33.8 % โดยมีตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางด้านเคมี 487 ตัวอย่าง คิดเป็น 26 % ซึ่งได้แก่ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ค่าความกระด้างหรือมีปริมาณสิ่งแปลกปลอมสูงเกินมาตรฐาน
รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในบางพื้นที่ ยังตรวจพบสารปนเปื้อนที่คาดว่าอาจเป็นปัญหา โดยตรวจพบ ไนเตรท มากที่สุด 1.5 % รองลงมา ได้แก่ แมงกานีส 0.5 % ฟลูออไรด์ 0.3 % สังกะสี 0.2 % เหล็กและตะกั่ว 0.1% และในการทดสอบความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ พบตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 303 ตัวอย่าง คิดเป็น 16.2% โดย พบเชื้อโคลิฟอร์มมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่า 80 % ของตัวอย่างที่ผิดมาตรฐานในด้านนี้ เชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่ตรวจพบ รองลงมาได้แก่ อี.โคไล และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น แซลโมเนลล่า และแสตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังตรวจพบเชื้อก่อโรคอื่นๆ เช่น บาซิลลัส ซีเรียส และ คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ อีกด้วย
ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การสำรวจน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญบางรายขาดการดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำให้ประสิทธิภาพการกรองต่ำลง และ เกิดการสะสมของจุลินทรีย์ ทำให้ตรวจพบสารปนเปื้อนซึ่งแสดงว่าน้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน และการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์ม อี.โคไล และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษก็แสดงว่าน้ำไม่สะอาดไม่ควรบริโภค เพราะเชื้อโคลิฟอร์ม อี. โคไล นั้นเป็นจุลินทรีย์ที่บ่งบอกสุขลักษณะความสะอาดของน้ำดื่ม นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับเชื้อโรคอาหารเป็นพิษจะทำให้เกิดอาการทางเดินอาหารได้ภายใน 2 - 24 ชั่วโมง ผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าวอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะและเกิดตะคริวที่ท้องได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้ดูแลและบำรุงรักษาตู้หลังการติดตั้งอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม เพื่อใช้กำกับและควบคุมธุรกิจการผลิตน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญให้ได้คุณภาพและปลอดภัย โดยผู้ประกอบการและผู้รับผิดชอบดูแลตู้ควรมีความรับผิดชอบใส่ใจในคุณภาพความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย.