จากสถิติการเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีการลอบยิงเกิดขึ้นมากที่สุด จำนวน 570 ครั้ง รองลงมาการลอบวางเพลิง 172 ครั้ง ลอบวางระเบิด 159 ครั้ง และการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ 102 ครั้ง แต่ละครั้งสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่
ตรวจแนวรบใต้ล่าสุด ดูตร.ภาค9ฝึกยุทธวิธีพร้อมต้านทาน-ตอบโต้
นั่นแสดงว่า
ขีดความสามารถในปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้าย นับวันยิ่งเพิ่มสูง
ในทางการเมือง รัฐบาลยืนยันใช้นโยบายสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจกับมวลชนในพื้นที่ เพื่อดึงให้มาร่วมมือกับฝ่ายรัฐ
แต่ขณะเดียวกัน ในด้านปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายรัฐ ก็ต้องพร้อมรับมือและพร้อมตอบโต้ปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรงจากฝ่ายโจรใต้ด้วย
จึงนำมาสู่ยุทธศาสตร์และนโยบายการไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติสถานการณ์ก่อความไม่สงบให้ได้อย่างถาวร เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับประชาชน สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ และสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน
พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ
พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรักษาการผบช.ภาค 9 ได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างกลไกอำนาจรัฐ (ตร.)ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งเรื่องการป้องกันหน่วย การตอบโต้ การคุ้มครองประชาชน การสืบสวนสอบสวนติดตามจับกุมผู้มาก่อเหตุตามกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม โดยยึดหลักนิติธรรม หลักเสมอภาค หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นตัวตั้ง
ที่สำคัญ นำกรอบแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยนำยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาใช้ในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้นโยบาย 3 ประการ คือ สร้างกลไกอำนาจรัฐให้มีความเข้มแข็ง บังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ขจัดเงื่อนไขและให้บริการช่วยเหลือประชาชน โดยยึดหลักการทำงานมวลชน
ดับไฟใต้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ
ในปี 2550 พล.ต.ท.อดุลย์ คิดจัดทำโครงการทั้งสิ้น 39 โครงการนำบุคลากรในพื้นที่จำนวน 12,141 นาย เข้าร่วมอบรม อาทิ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและทดสอบสมรรถภาพทางกาย โครงการเสริมความเข้าใจในภาวะวิกฤตในพื้นที่ โครงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จชต.
การปรับทัศนคติข้าราชการตำรวจในการปฏิบัติงานเพื่อแสวงหามวลชน โครงการฝึกอบรมทบทวนยุทธวิธีตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ(จู่โจม) โครงการฝึกอบรมกองร้อยควบคุมฝูงชน โครงการอบรมหลักสูตรตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือ โครงการฝึกอบรมการค้นหาวัตถุพยานระดับไมโครในสถานที่เกิดเหตุ ฝึกอบรมการสืบสวนคดีอาญา การสังเกตพัสดุต้องสงสัยและตรวจวัตถุระเบิด ฝึกอบรมชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ฝึกยิงปืนด้วยกระสุนจริง ฝึกวิเคราะห์สำหรับเจ้าหน้าที่ซักถาม ซึ่งปัจจุบันเพิ่มหลักสูตรโรงเรียนการเมือง และโรงเรียนยุทธวิธี
ทั้งหมดเป็นหัวใจหลักในการปรับกระบวนยุทธ์
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ หากกำลังพลผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ ความสามารถ ก็จะไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์และนโยบายได้ โดยเฉพาะการฝึกยุทธวิธีให้มีศักยภาพและขีดความสามารถสูงขึ้น ในระดับที่สามารถต่อต้านและตอบโต้สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้
การเสริมเขี้ยวเล็บให้กับตำรวจแต่ละโรงพักในพื้นที่เสี่ยงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการทบทวนและส่งเสริมยุทธวิธีใหม่ๆ กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นำเสนอแผนการฝึกอบรมประจำปีถึง 21 หลักสูตรทั้ง การวิเคราะห์ข่าว ยุทธวิธีปฏิบัติการพิเศษหน่วยรบขนาดเล็ก(จู่โจม) กองร้อยควบคุมฝูงชน การสอบสวนคดีอาญา การสืบสวนคดีอาญา เทคนิคการยิงปืนทางยุทธวิธีในระบบต่อสู้ฉับพลัน วิธีสังเกตวัตถุต้องสงสัย การเก็บกู้วัตถุระเบิด การตรวจและถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ การเจรจาต่อรองและบริหารวิกฤตการณ์ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเป็นวิทยากรพัฒนาหมู่บ้านพิทักษ์สันติสุข ปรับทัศนคติตำรวจผู้ให้บริการบนโรงพัก การใช้แผนที่เข็มทิศและเครื่องจีพีเอส
ต้องพร้อมทุกอย่างเพื่อรองรับสถานการณ์จริง
ผลจากการฝึกอบรม พบว่าสถิติการสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละปีลดลง ดูจากสถิติการสูญเสียที่เกิดขึ้นในปี2547 คดีความมั่นคงเกิดขึ้น 983 คดี ปี 2548 คดีความมั่นคงเกิดขึ้น 1,459 คดี ปี 2549 คดีความมั่นคง 1,143 คดี แยกการเสียชีวิตปี 47 รวม 321 ราย ตำรวจภูธร 44 นาย ตชด. 16 นาย ทหาร 15 นาย ปี 2548 เสียชีวิตรวม 569 ราย ตำรวจภูธร 30 นาย ตชด. 12 นาย ทหาร 18 นาย และปี 2549 เสียชีวิตรวม 74 ราย ตำรวจภูธร 27 นาย ตชด. 17 นาย ทหาร 30 นาย
หลังจากที่พล.ต.ท.อดุลย์ เข้ามารับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรในสังกัด ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถือว่าประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง
ต้องพร้อมรับสถานการณ์อย่างไม่ประมาท
"จากการวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่าฝ่ายตรงข้ามมีวิธีการหลายรูปแบบในการกดดันให้ฝ่ายรัฐต้องทำงานแบบตั้งรับตลอดเวลา เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพของกำลังพลจึงมีความสำคัญในลำดับแรกต่อการยุติสถานการณ์ต่างๆ การฝึกอบรมยุทธวิธีตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษหน่วยรบขนาดเล็ก(จู่โจม) ให้กับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ สายป้องกันปราบปราม ในลักษณะชุดปฏิบัติการของสถานีตำรวจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า วันนี้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนารูปแบบ การปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัด และยุติลงในที่สุด เพราะเมื่อกำลังพลมีความรู้ ความชำนาญจากการฝึกยุทธวิธีตำรวจ ทั้งการตั้งรับและการตอบโต้กับฝ่ายตรงข้าม ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเชื่อมั่นในทีมงาน ท้ายสุดจะสามารถปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" พล.ต.ท.อดุลย์ กล่าว
พร้อมๆกัน ต้องตระหนักด้วยว่า การแก้ปัญหาไฟใต้ให้ได้ผลอย่างแท้จริง ต้องชี้ขาดที่แนวนโยบายทางการเมือง
เจอยุคบ้าอำนาจ หันกลับไปใช้ความรุนแรงนำหน้าเมื่อไร
มื่อนั้นสถานการณ์ก็คงบานปลายจนยากจะยุติ!
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด