อาการ"น้อง นวลแพร" เด็กหญิงวัย 12 ปี เหยื่อโดนบันไดเลื่อนห้างดัง "ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต" หนีบหัวยังบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู ร.พ.กรุงเทพ
ขณะที่ผู้บริหารห้างยกขบวนไปเยี่ยม พร้อมรับปากดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด อ้างญาติคนเจ็บเข้าใจว่าโศกนาฏกรรมเช่นนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ยันตัวอาคารของทางห้าง ไม่ได้สร้างผิดกฎหมาย แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็พร้อมแก้ไข โดยส่งช่างเข้าตรวจสอบ-ปรับเปลี่ยนจุดเสี่ยงทั่วห้าง รวมถึงปิดช่องว่างตามบันไดเลื่อนอีกด้วย
จากเหตุสยอง ด.ญ.นวลแพร วสุนทพิชัยกุล อายุ 12 ปี อยู่บ้านเลขที่ 139/205 หมู่ 4 ต.พยอม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ไปเที่ยวศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต แล้วระหว่างขึ้นบันไดเลื่อนจากชั้น 2 ไปยังชั้น 3 ปรากฏว่า ผมและศีรษะของเด็กหญิงเข้าไปติดกับราวบันไดเลื่อนกระทั่งศีรษะชนและคอขัดกับช่องว่างคานปูนบริเวณด้านบนบันไดเลื่อน ทำให้ด.ญ.นวลแพรบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดช็อกและหยุดหายใจไปชั่วขณะราว 15 นาที โดยหลังเกิดเหตุส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลปทุมเวช จากนั้นส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เหตุเกิดเมื่อ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
ความคืบหน้า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 10 ก.ย. ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต นางรัตนา อนันท์นุพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต แถลงว่า ในส่วนของด.ญ.นวลแพร ทางห้างพร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตลอดจนจัดชุดเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับแพทย์และญาติผู้ป่วยเพื่ออำนวยความสะดวก
"เมื่อวานนี้ หลังจากย้ายน้องนวลแพรไปที่ร.พ.กรุงเทพ คณะผู้บริหารศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เดินทางไปเยี่ยมในทันที และวันนี้ช่วงบ่ายๆ คณะผู้บริหารจะเดินทางไปเยี่ยมน้องอีกครั้ง จากการพูดคุยกับทางญาติของน้องนวลแพรก็เข้าใจดีว่าเกิดจากอุบัติเหตุจริงๆ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ตัวคุณแม่ของน้องเองบอกว่าในตอนเกิดเหตุตัวคุณแม่ไม่ได้อยู่กับน้อง แต่อยู่กับคุณป้าซึ่งได้ให้น้องขึ้นไปเรียนพิเศษเพียงลำพัง โดยตัวคุณแม่ไปหาที่จอดรถอยู่ ซึ่งเขาก็เสียใจตรงนี้ว่าตัวเองไม่ได้เข้าไปดูแลลูกอย่างใกล้ชิด" นางรัตนากล่าว
ยังนอนโคม่า! ดญ.บันไดหนีบ ห้างฯเร่ง ล้อมคอก ปิดรูโหว่
สำหรับอาการของด.ญ.นวลแพร นางรัตนาระบุว่า ยังไม่ได้สติอยู่ในห้องไอซียู
อย่างไรก็ตามแพทย์บอกว่าปลอดภัย แต่ต้องการให้เด็กพักผ่อนสมองอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัว ส่วนที่มีข่าวออกไปว่ามีเลือดคั่งในสมองจนต้องผ่าตัดนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเพียงการทำงานอย่างหนึ่งทางการแพทย์เพื่อเช็กอาการบริเวณศีรษะที่ได้รับการกระทบกระเทือน และตรวจความดันเลือด
ผอ.การตลาดห้างฟิวเจอร์ฯ แถลงด้วยว่า ในส่วนของอาคารตลอดจนบันไดเลื่อนนั้นไม่ได้ผิดมาตรฐานเลย
แต่ในเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เราไม่อยากให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงปรับปรุงป้ายเตือนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นทุกๆ ที่ภายในศูนย์การค้าฯ และจะต้องแจ้งเตือนผู้ปกครองให้เตือนบุตรหลานเวลาขึ้นบันไดเลื่อนอย่ายื่นแขนขาออกมา ตลอดจนเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าที่ใช้บันไดเลื่อนตามจุดต่างๆ นอกจากนี้ ยังจะให้วิศวกรไปปิดช่องว่างตามบันไดเลื่อนที่ศีรษะของน้องเข้าไปติดและตรวจสอบจุดต่างๆ หากตรงจุดไหนมีช่องว่างที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เราจะปิดทั้งหมด
ที่หออภิบาลผู้ป่วยหนัก หรือห้องไอซียู 4 ชั้น 4 โรงพยาบาลกรุงเทพ นางวิจิตรา วสุนทพิชัยกุล มารดาด.ญ.นวลแพร
เฝ้าปักหลักคอยดูแลบุตรสาวอย่างใกล้ชิดโดยมีครูของด.ญ.นวลแพรจากโรงเรียนเปรมฤทัยนำกระเช้าดอกไม้มาเยี่ยม พร้อมญาติและคนรู้จักนางวิจิตรา 3-4 คน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นเดินออกมาจากห้องไอซียู 4 พร้อมนางวิจิตราด้วยสีหน้ายังไม่ค่อยสบายใจ
นางสมจิต ปิยะศิลป์ ผอ.สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยหลักเป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารหรือเจ้าของห้างสรรพสินค้าดังกล่าวต้องดูแล โดยติดตั้งแผงกั้นหรือป้ายเตือนให้ระวังศีรษะระหว่างขึ้น-ลงบันไดเลื่อน เพราะตามปกติทางห้างสรรพสินค้าจะต้องติดตั้งเพื่อเตือนผู้ใช้บริการอยู่แล้ว ทั้งนี้ ส่วนกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่บังคับใช้ในเรื่องการควบคุมอาคารนั้น ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดไปถึงกรณีการติดตั้งหรือระยะห่างของบันไดเลื่อน เป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารหรือผู้ออกแบบจะต้องดำเนินการออกแบบ โดยพิจารณาไปถึงเรื่องการออกแบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย
"เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรนำกรณีตัวอย่างนี้ไปใช้ เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก ขณะที่คณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาฯ คงจะต้องนำเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณาปรับปรุงหรือแก้ไขกฎกระทรวงต่อไป" นางสมจิตกล่าว
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ.รามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ว่า
อุบัติเหตุดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อนด้วยว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ตามปกติการสร้างบันไดเลื่อนไม่ควรก่อสร้างในลักษณะแนบติดกับชั้น และมีช่องว่างในลักษณะสามเหลี่ยม หรือมุมเฉือนที่หากมีอวัยวะหรือแม้แต่เป้ยื่นออกไปนอกบันไดอาจได้รับอันตราย อีกทั้งควรมีพื้นที่เป็นอิสระหรือไม่ก็ปิดตายเพื่อป้องกันการกีดขวาง ไม่ให้มีแขนยื่น หรืออย่างอื่นยื่นออกนอกบันไดแล้วเกิดติดขัด นอกจากนี้ ต้องติดเซ็นเซอร์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกรณีมีสิ่งกีดขวางเข้าไป เพื่อป้องกันกรณีพบบ่อยเช่น นิ้ว รองเท้า ฯลฯ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุกับเด็กเล็ก หากมีเซ็นเซอร์จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายหนัก เช่น แรงกระแทก หรือกระชากได้
"การใช้บันไดเลื่อนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ควรอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง ส่วนในเด็ก 9 ขวบขึ้นไป ต้องได้รับการฝึกให้มีทักษะในการขึ้นลงและฝึกข้ามถนนด้วย เพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กอายุ 6-7 ขวบ มักนิยมเล่นซน ด้วยการวิ่งขึ้นลงบันไดเลื่อนสวนทาง ทั้งนี้ในทางวิศวกรรม ต้องตรวจสอบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มาจากพฤติกรรมของเด็กหรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หากเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากเดิมต้องแก้ไขให้เหมาะสม" นพ.อดิศักดิ์ชี้
ที่ศาลาว่าการ กทม. นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกทม.อธิบายว่า ที่ผ่านมา กทม.ประชาสัมพันธ์การใช้บันไดเลื่อนให้ปลอดภัย
ดังนี้ ข้อ 1. ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กใกล้ชิด หากจะให้ลูกที่ยังเล็กเกินไปขึ้นลงบันไดเลื่อนด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องจับมือลูกและดูแลทุกก้าวของลูกในการใช้บันไดเลื่อน อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องลูกจากภัยต่างๆ แต่หากลูกที่มีอายุน้อยหรือเพิ่งหัดเดิน ห้ามปล่อยให้ลูกขึ้นลงบันไดเด็ดขาด
ข้อ 2. ระวังเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ยาวเกินไปหรือเชือกรองเท้าที่ไม่ได้ผูกให้ดี อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นกับเด็ก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จะต้องได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษหากขึ้น-ลงด้วยบันไดเลื่อน โดยเฉพาะกรณีเสื้อผ้าหลุดเข้าไปติดกับซอกต่างๆ ของบันไดเลื่อน
ข้อ 3. อย่ายืนพิงบันไดเลื่อนเพราะทำให้สะดุด หกล้ม กลิ้งตกลงมา การกระโดดเล่น การก้าวข้ามบันไดมากกว่า 1 ขั้น หรือยืนโดยยื่นเท้าไปข้างหน้ามากเกินไป ล้วนก่อให้เกิดอันตราย 4. ห้ามเล่นหรือวอกแวก การขึ้นลงด้วยบันไดเลื่อนให้ปลอดภัย ผู้ใช้และเด็กควรมองตรงไปข้างหน้าเสมอ ไม่ควรเล่นหรือหันหน้าหันหลังคุยกัน รวมทั้งควรจับราวบันได และ 5. สังเกตปุ่มต่างๆ ของบันไดเลื่อนเอาไว้ด้วย เช่น ปุ่มหยุดฉุกเฉิน