สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น เกิดจากติดเชื้อโรคมือเท้าปาก
ชนิดเอนเทอโรไวรัส 71 (Entero Virus 71) หรือ อี วี 71 ร่างกายอ่อนแอ รักษาโรคไม่ถูกวิธี และแพ้ยาจนทำให้เกิดอาการสมองบวม ทางเดินหายใจมีปัญหา ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นขอให้ประชาชนชาวกัมพูชาระมัดระวังดูแลสุขภาพให้ดี เพราะโรคดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง ส่วนกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชากำลังเร่งศึกษาวิธีรักษาและควบคุมโรคมือเท้าปาก อี วี 71 แต่ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งข่าวดังกล่าวยิ่งทำให้ชาวกัมพูชาบริเวณชายแดนปอยเปตตื่นกลัวมากขึ้น ต่างพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายจำนวนมาก
นายโบ ยิม อายุ 35 ปี พ่อค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดในตลาดโรงเกลือ ฝั่งไทย และมีบ้านพักอยู่ในตลาดปอยเปต ฝั่งกัมพูชา
เปิดเผยว่า พ่อค้าแม่ค้าชาวเขมรที่เข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือ และมีลูกหลานยังอยู่ในวัยเรียนต่างตื่นกลัวเกรงลูกหลานจะติดโรคร้ายจึงนำมานอนค้างในฝั่งไทยจำนวนมาก พอตอนเช้าก็ต้องรีบนำกลับไปเรียนในฝั่งกัมพูชา เพราะเชื่อว่าปลอดภัยกว่า อีกทั้งฝั่งไทยยังมีหมอรักษาได้ ผิดกับฝั่งกัมพูชาหาแพทย์ยาก
ด้าน พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ได้นำเจ้าหน้าที่ ตม.จว.สระแก้ว
ร่วมกับ ร.อ.อภินันท์ สงครามชัย ผบ.ร้อย.ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา (ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 1206 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา) นำกำลังร่วมกันตรวจคัดกรองเด็กชาวเขมร โดยสุ่มตรวจเด็กชาวเขมรทุกคนที่พ่อแม่พาเข้ามาฝั่งไทย เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการเป็นไข้หรืออาการต้องสงสัยหรือไม่ เป็นการคัดกรองเบื้องต้น เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศมาตรวจคัดกรองแต่อย่างใด และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กัมพูชาในฝั่งปอยเปต ได้รับแจ้งว่าโรคดังกล่าวยังไม่ระบาดเข้ามาใน จ.บันเตียเมียนเจย หรือในปอยเปต
นอกจากนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ ตม.ทำการประชาสัมพันธ์ด้วยเครื่องขยายเสียงเป็นภาษาเขมร เตือนให้ชาวเขมรรู้จักป้องกันตนเองด้วยการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ และพยายามสังเกตลูกหลานหากพบมีไข้สูงขอให้นำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวลุกลามเข้ามาในฝั่งไทย
ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการแพร่ระบาดในไทยและสามารถควบคุมได้
ทั้งนี้ ล่าสุดพบโรคดังกล่าวที่โรงเรียนอนุบาลใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งได้สั่งให้ปิดโรงเรียนเพื่อเป็นการเฝ้าระวังแล้ว ส่วนตามแนวชายแดนได้กำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขจะสามารถควบคุมดูแลได้ และเชื้อที่พบก็ไม่รุนแรงเท่าที่พบในประเทศกัมพูชาอย่างแน่นอน
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
ในรอบ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 กรกฎาคม 2555 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในไทย 10,813 ราย ร้อยละ 72 เป็นเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกระจายหลายจังหวัด แต่ยังไม่พบการระบาดของโรคเป็นกลุ่ม ซึ่งตรวจเชื้อพบว่าเกิดจากเชื้อ 2 ชนิด คือคอกซากี เอ 16 (Coxsackie A16) และเอนเทอโร ไวรัส 71 (Entero Virus 71) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และที่พบในไทยเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ในเด็กที่เสียชีวิตในกัมพูชา พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญด้านประเทศเวียดนาม และพบส่วนน้อยประมาณ 5 ราย อยู่ที่เสียมราฐ จึงขอให้ไม่ต้องตื่นตระหนก
ทั้งนี้ กระทรวงจะติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และประสานหน่วยงานต่างประเทศ เช่น
ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) และองค์การอนามัยโลก (ฮู) อย่างต่อเนื่อง และได้ทำหนังสือขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในพื้นที่ ดูแลความสะอาดของสถานที่ โดยเชื้อโรคมือเท้าปากจะอยู่ในอุจจาระของเด็กที่ป่วยได้นานถึง 6 สัปดาห์ หากพบว่ามีอาการขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อควบคุมโรคไม่ให้ติดไปยังเด็กคนอื่น
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
วันเดียวกัน นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี
เปิดเผยกรณีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ติดเชื้อโรคมือเท้าปากว่า เด็กที่มารักษาที่โรงพยาบาลมี 5 ราย ตรวจพบ 4 รายป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อยติดเชื้อคอกซากี ไวรัส ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ส่วนอีกหนึ่งรายป่วยเป็นไข้ตัวร้อนธรรมดา อย่างไรก็ตามได้แนะนำให้ปิดศูนย์เป็นเวลา 7 วัน และได้ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ล้างทำความสะอาดห้องเรียน และอุปกรณ์เด็กเล่นทุกชิ้น รวมทั้งแก้วน้ำดื่มทั้งหมด ส่วนการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตามแนวชายแดนไทย-พม่า ยังไม่พบการแพร่ระบาดแต่อย่างใด