เรียกว่าเป็น "ภัยสังคม" ที่เรื้อรังยาวนาน และดูท่าไม่จบลงง่ายๆ สำหรับ "ปัญหานักเรียนนักเลง" "ค่านิยม" ผิดๆ ที่ลุกลามสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่
กรณีสะเทือนขวัญล่าสุดเย็นวันที่ 13 มิถุนายน "นักเรียนนักเลง" ก่อเหตุอุกอาจอุกฉกรรจ์ ชนิดไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองใช้อาวุธปืนยิงใส่รถประจำทางสาย 59 วิ่งระหว่างรังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ บริเวณป้ายรถเมล์ตรงข้ามอาคารช่างการบินไทย ท้องที่ สน.ดอนเมือง เป็นเหตุให้ นายวันชัย ทองสองแก้ว อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ และนางยุพา พรายงาม อายุ 48 ปี ถูกกระสุนลูกหลงเสียชีวิต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่ไม่รู้ว่าจะเจอแจ๊กพ็อตกับตัวเข้าเมื่อไหร่ เพราะนอกจากจะต้องฝากชีวิตไว้กับโชเฟอร์ โดยหวังว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าการเดินทางแต่ละเที่ยวจะประสบพบพานกลุ่มอันธพาล นักเรียนนักเลงขาใหญ่เข้าอีกหรือไม่
รวมทั้งห้วงเวลาเดียวกัน เกิดเหตุคนร้าย 2 คน ใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้า เวฟ สีแดง-ดำ เป็นพาหนะ คนซ้อนท้ายใช้อาวุธปืนลูกซอง ยิงใส่กลุ่มนักศึกษาเทคโนโลยีบางกะปิ ขณะยืนรอรถที่ปากซอยอ่อนนุช 47 (มุ่งหน้าไปทางประเวศ) แขวงและเขตสวนหลวง กทม. เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปรากฏข่าวนักเรียนโรงเรียนวิทยาลัยการ อาชีพกาญจนาภิเษก
ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มนักเรียนโรงเรียนเทคนิคกาญจนาภิเษก ที่โดยสารอยู่บนรถประจำทาง สาย 131 แต่กระสุนพลาดถูกโชเฟอร์เสียชีวิต ท้องที่ สน.ลำผักชี เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายซึ่งเป็นศิษย์เก่าได้ทันควัน
เอาตัวรอดไว้ก่อน ! เปิด 4 เส้นทางเสี่ยง สนามรบเด็กช่างกล
และช่วงเช้าวันนั้น นักเรียนโรงเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ ย่านสุขุมวิท 97/1
กว่า 30 คน ล้อมรถเมล์สาย 129 บริเวณถนนสุขุมวิทฝั่งขาเข้า เพื่อทำร้ายนักเรียนโรงเรียนไทยวิจิตรศิลปบนรถเมล์ ก่อนที่หนึ่งในกลุ่มนักเรียนใช้อาวุธปืนไทยประดิษฐ์ขนาด .38 ยิงใส่ด้านข้างของรถเมล์ กระสุนถูกนายทศพล ใจเกื้อ พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับบาดเจ็บ
ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองกรุง แต่เหตุนักเรียนนักเลงยกพวกตีกันหลายครั้ง ก็เกิดในแถบปริมณฑลด้วย ทั้ง จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ที่สำคัญจากพยานหลักฐาน และผลการจับกุมคดีก่อนๆ กลุ่มนักเลงอันธพาลมีอาวุธครบมือ ทั้งอาวุธปืน มีดดาบ ขวาน ไม้หน้าสาม พฤติการณ์ลงมือแบบไร้จิตสำนึก ขาดความยั้งคิด กราดยิงใส่ฝูงชนเพียงเพราะเห็นสถาบันคู่อริเพียง 1 คน อยู่ในกลุ่มเท่านั้น
จากการข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) มีสถิตินักเรียนตีกันและกำลังก่อเหตุ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง 14 มิถุนายน 2555 ดังนี้ บก.น.1 จำนวน 34 ครั้ง บก.น.2 จำนวน 137 ครั้ง บก.น.3 จำนวน 54 ครั้ง บก.น.4 จำนวน 101 ครั้ง บก.น.5 จำนวน 97 ครั้ง บก.น.6 จำนวน 21 ครั้ง บก.น.7 จำนวน 92 ครั้ง บก.น.8 จำนวน 73 ครั้ง บก.น.9 จำนวน 112 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 721 ครั้ง
พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ รอง ผบช.น. ดูแลงานป้องกันปราบปราม เปิดเผยถึงวิธีการระวังตัวให้รอดพ้นจากลูกหลงของกลุ่มนักเรียนนักเลง ว่า
หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำธุระ ไปประกอบอาชีพตามสถานที่ต่างๆ ต้องใช้เส้นทางเป็นประจำ ต้องขึ้นรถกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กลุ่มผู้มาก่อเหตุนั้น ค่อนข้างมีจิตใจผิดปกติ เพราะที่ผ่านมาคนจะก่อเหตุกับคู่อริ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเพราะกระทำกับบุคคลโดยไม่ได้คำนึงว่าคนอื่นเดือดร้อนขนาดไหน เช่น ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นไปบนรถเมล์ ทำให้ผู้โดยสารคนอื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต อย่าไปมองว่าเป็นนักเรียน แต่ให้มองว่าเป็นอาชญากร เพราะจ้องจะก่อเหตุอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงผู้อื่น อาจทำให้คนบาดเจ็บล้มตายได้ตลอดเวลา
"สำหรับการหลีกเลี่ยงนั้น คงทำได้ยาก แต่หากพบนักเรียนนักศึกษาที่เกาะกลุ่มกันอยู่อย่าพยายามไปอยู่ใกล้ หลีกเลี่ยงให้ไกลออกไป ส่วนนี้ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะจัดชุดของแต่ละสถานีเอาไว้ อย่างที่ สน.ดอนเมือง ก็จัดชุดตามป้ายรถเมล์เพื่อตรวจสอบ แต่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่รถเมล์ ในจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องยาก ฉะนั้น หากพบเห็นว่ามีพฤติกรรมรวมตัวเป็นกลุ่มที่อาจเป็นอันตรายขอให้แจ้งตำรวจไปตรวจสอบทันที" รอง ผบช.น.กล่าว
ส่วนเส้นทางที่ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง พล.ต.ต.สาโรจน์แจงว่า ประกอบด้วยเส้นทางที่มักมีเหตุนักเรียนตีกันในเขตกรุงเทพฯ เกิดขึ้นบ่อยๆ มีการวางกำลังไว้ 4 จุด
จุดแรก คือ ย่านดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต ถึงเขตติดต่อพื้นที่ จ.ปทุมธานี เส้นทางนี้เป็นจุดที่นักเรียนต้องใช้เดินทางไปกลับบ้านตลอดเวลา ได้สั่งการให้ตำรวจ สน.ดอนเมือง สน.สายไหม และชุดป้องกันเหตุนักเรียนตีกัน ของ บก.น.2 ดำเนินการอยู่
จุดที่ 2 แยกบางนา เพราะเป็นเส้นทางที่มาจากสำโรง บางนา-ตราด สรรพาวุธ สุขุมวิท มีการวางกำลังป้องกันเหตุในจุดใหญ่ตรงนี้ด้วย
จุดที่ 3 แยกมีนบุรี เป็นเส้นทางที่ นักเรียน นักศึกษาอาชีวะในย่านนี้ ตั้งแต่มีนบุรี สายไหม คันนายาว มักรวมตัวกันก่อเหตุ มีการกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา
และจุดที่ 4 ย่านบางแค เป็นศูนย์รวมของกลุ่มนักศึกษาแถบฝั่งธนบุรี
"ทั้ง 4 จุดนี้ถือว่าก่อเหตุบ่อยที่สุด สำหรับจุดอื่นทั้ง หัวหมาก พหลโยธิน เพชรเกษม ก็ยังมีอยู่ เราวางกำลังอยู่ โดยพื้นที่ล่อแหลมต่างๆ ให้ทุกสถานีตำรวจไปตรวจสอบสถานศึกษาทั้งอาชีวะและมัธยม ต้องมีชุดป้องกันและดำเนินการส่วนนี้"
ด้าน นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ระบุว่า เส้นทางที่เสี่ยงกับการทำร้ายกันของเด็กนักเรียนในเขตกรุงเทพฯมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ใกล้เคียงสถานศึกษา แต่คงไม่สามารถระบุเป็นรายชื่อสถาบันได้ แต่สามารถระบุพื้นที่ได้ เช่น ย่านมีนบุรี ย่านสะพานใหม่ บริเวณเมืองเอก ย่านบางกะปิ ย่านปากน้ำ และย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น
สำหรับการป้องกัน ขสมก.ส่งสายตรวจพิเศษไปดูแต่ละพื้นที่ที่อาจจะเกิดปัญหา
หากมีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบ โดยที่ผ่านมา ขสมก.ได้มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เช่น หากมีคนยิงปืนไปยังรถเมล์ คนขับรถและพนักงานเก็บเงิน จะต้องบอกให้ผู้โดยสารหมอบลงกับพื้น ในกรณีที่มีกลุ่มเด็กนักเรียนดักรอทำร้ายกลุ่มที่อยู่บนรถเมล์ก็ขับไปส่งถึงโรงเรียน และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วก็ให้รีบเข้าไปยังสถานีตำรวจ หรือป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้น
ถือเป็นลายแทงให้ชาวบ้านที่ต้องสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวได้ระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของนักเรียนนักเลงเหล่านี้