ภายหลัง พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ได้แจกภาพสเก็ตช์คนร้ายซึ่งเป็นผู้ยิงปืนลูกซองเข้าไปบนรถเมล์แก่สื่อมวลชน
พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า คนยิงเป็นเยาวชนศึกษาอยู่โรงเรียนช่างเทคนิคดอนเมือง ตอนนี้เจ้าหน้าที่รู้ตัวกลุ่มคนร้ายทั้ง 6 คนแล้วและกำลังรวบรวมหลักฐานขอหมายจับ เร็วที่สุดภายในเย็นนี้ ส่วนภาพสเก็ตช์อยากให้สื่อมวลชนเผยแพร่ เพราะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นข่าวจะได้นำตัวบุตรหลานเข้าพบพนักงานสอบสวน หรือติดต่อมาทางพ.ต.อ.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผกก.บก.สส.บก.น.2 พ.ต.อ. สำราญ นวลมา ผกก.สน.ดอนเมืองก็ได้ หากออกหมายจับไปแล้วจะแก้ปัญหาลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่รู้ชื่อกลุ่มผู้ก่อเหตุทุกคนแล้ว บางคนเป็นศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนช่างเทคนิคดอนเมือง บางส่วนก็เป็นศิษย์เก่า
พล.ต.ต.คำรณวิทย์กล่าวว่า กลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยก่อเหตุในท้องที่สภ.คลองหลวงเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยใช้อาวุธปืนลูกซองยิงใส่ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งทางสภ.คลองหลวงจับได้ 2 รายพร้อมของกลางอาวุธปืนลูกซอง ตอนนี้เจ้าหน้าที่เตรียมตั้งข้อหาร่วมกันฆ่า พยายามฆ่า สำหรับสาเหตุการก่อเหตุ เป็นเรื่องระหว่างสถาบัน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ส่วนที่มีข่าวว่ากลุ่มคนร้ายก่อเหตุเพราะอยู่ในช่วงรับน้องต้องการแสดงพลัง เจ้าหน้าที่ไม่ทราบ ต้องได้ตัวมาก่อน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามือยิงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนช่างเทคนิคดอนเมืองปวช.ปี 3 และยังอยู่ในรอยตะเข็บของกรุงเทพฯกับจังหวัดปทุมธานี
ต่อมาเมื่อเวลา 14.15 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)
เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการเสริมเพื่อป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทว่า ช่วงเช้าตนได้เดินทางไปตรวจดูสถานการณ์ที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ภายหลังเกิดเหตุนักศึกษาถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งพบว่า นักศึกษามาร่วมกันบริจาคโลหิต และบ่ายวันเดียวกัน นายวีระเดช เหลืองหิรัญ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ก็ได้ลงนามในประกาศหยุดการเรียนการสอน 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18-22 มิ.ย.นี้ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ และให้สอนชดเชยภายหลัง ส่วนครูและเจ้าหน้าที่อื่นๆปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ขณะเดียวกันก็ได้รับรายงานว่า พบกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ รวมกลุ่มเพื่อเตรียมก่อเหตุ แต่เมื่ออาจารย์ที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังตามปกติพบเหตุเห็นก็ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับ ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งถือเป็นข่าวดี แสดงว่ามาตรการการตระเวนตรวจจุดเสี่ยงได้ผลดี
เลขาธิการ กอศ.กล่าวว่า สำหรับการกำหนดมาตรการเสริมนั้น จากเดิมที่มีมาตรการระดับวิทยาลัย และมาตรการกลางทั่วไป
แต่เนื่องจากช่วงนี้เกิดเหตุถี่ขึ้น จึงกำหนดมาตรการเสริมโดยจะเปิดศูนย์วิทยุสื่อสารและสายด่วนแจ้งเหตุ 1156 และ 0-2281-5555 โดยมีศูนย์กลางที่ สอศ.และศูนย์เครือข่าย 4 ศูนย์ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกทม.เพื่อรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง ได้แก่ ศูนย์จตุจักร มีผอ.วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เป็นประธานศูนย์,ศูนย์ชัยสมรภูมิ มีผอ.วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เป็นประธาน, ศูนย์สวนหลวง ร.9 มีผอ.วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการเป็นประธาน, ศูนย์ธนบุรี มีผอ.วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม เป็นประธาน โดยแต่ละศูนย์จะมีการสื่อสารกับศูนย์ส่วนกลางโดยใช้วิทยุสื่อสาร และจะมีการจัดรถลาดตระเวนในพื้นที่ หากเกิดเหตุก็จะมีการประสานมายังส่วนกลางและประสานกับ 191 และ ตำรวจท้องที่เพื่อเข้าระงับเหตุ ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเมื่อเกิดเหตุทะเลาะวิวาทจะมีจุดอ่อนเรื่องการสื่อสาร ดังนั้นหากสามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายได้เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น โดยมาตรการนี้จะดำเนินการอย่างเข้มข้นตลอดเทอมนี้
“สำหรับมาตรการดูแลนักศึกษาของแต่ละวิทยาลัยนั้น ขณะนี้ทุกวิทยาลัยได้มีการจำแนกนักศึกษากลุ่มเสี่ยงโดยจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมภาพถ่ายทุกคนไว้แล้ว พร้อมทั้งเชิญผู้ปกครองเด็กกลุ่มเสี่ยงมาหารือเพื่อให้กวดขันลูกหลานตนเองเป็นพิเศษ บางวิทยาลัยเช่น วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ซึ่งนักศึกษาเพิ่งก่อเหตุบริเวณท่าน้ำนนทบุรี ก็กำหนดมาตรการให้ผู้ปกครองจะต้องมารับลูกหลานกลับบ้าน นอกจากนี้ สอศ.ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากนายโอภาส เพชรมุณี ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และวินมอเตอร์ไซด์ ในการช่วยแจ้งเหตุด้วย ส่วนข้อเสนอเรื่องการยุบเลิกสถานศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทนั้น ตนคิดว่าอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษาสายอาชีพมากขึ้น หากปิดกิจการก็จะทำให้เด็กหมดโอกาส และรวมกลุ่มไปยังสถาบันอื่นอีก เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการศึกษาที่จะต้องดูแลและโอกาสทางการศึกษาแก่เด็ก