ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) วันที่ 13 เม.ย. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ(ศปถ.) แถลงข่าว ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย.2555 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 481ครั้ง ผู้เสียชีวิต 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 515 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 38.88 ขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 20.79 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.97 รถปิคอัพ ร้อยละ7.41 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ การโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ31.24 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 2.62 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.54 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 38.88 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ36.17
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.85 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 55.33 จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ 8 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ยโสธร สมุทรสงคราม ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 22 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 21 ครั้ง จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 44 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชุมพร นครนายก (5 คน) ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,390 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 68,534 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 686,758 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 92,963 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 28,027 ราย รองลงมาไม่มีใบขับขี่ 27,195 ราย
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน (วันที่11 –12 เม.ย.55) เกิดอุบัติเหตุรวม 824 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 88 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 890 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 2 วันรวม 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ยโสธร หนองคาย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 2 วันรวม 38 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 2 วันรวม 7 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 42 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 40 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ชุมพร นครนายก และพิจิตร จังหวัดละ 5 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 47 คน รองลงมา เชียงราย 41 คน
“จากกสถิติที่ผ่านมา จะพบว่าวันที่ 13เม.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ จะเป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด เนื่องจากหลายพื้นที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ อีกทั้งมักมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลิมฉลอง ศปถ.จึงได้ประสานให้จังหวัดเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด หากพบว่าผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้จังหวัดสืบสวนและขยายผลดำเนินคดีไปถึงผู้จำหน่ายและกำชับให้แต่ละจังหวัดกวดขันการเล่นน้ำในพื้นที่เสี่ยงและผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเล่นน้ำท้ายรถกระบะบนทางหลวง การเล่นน้ำบริเวณทางแยกและริมข้างทาง การสาดน้ำใส่รถจักรยานยนต์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการเล่นน้ำ ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเน้นการตั้งจุดตรวจบนถนนสายรองและเส้นทางที่มีการเล่นน้ำ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัยอย่างจริงจัง” รมว.สาธารณสุข กล่าว