วันนี้ ( 26 มี.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) ที่มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มีมติให้ 4 คดีประกอบด้วย1.คดีบุกรุกที่เขาแพง จ.สุราษฏร์ธานี ภายหลังดีเอสไอตรวจสอบพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิสค. 1 เกินจากข้อเท็จจริงกว่า 37 ไร่ และมีการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ต้องห้ามที่มีความลาดชันเกินที่กฎหมายกำหนด 2.คดีการค้าอาวุธสงครามในพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อนำอาวุธดังกล่าวส่งให้ขบวนการค้ายาเสพติด 3.คดีขบวนการลักลอบทำบัตรประชาชนให้กับคนต่างด้าวที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีการทำบัตรประชาชนให้คนต่างด้าวเช่น พม่า โรฮิงญา ไปแล้วกว่า 1,600 ใบ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐได้รับผลประโยชน์กว่า 20 ล้านบาท และ4.คดีการลักลอบนำยาแก้หวัดที่มีสารซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบของโรงพยาบาล เป็นคดีพิเศษ
นายธาริต กล่าวว่า ในส่วนคดีลักลอบนำยาแก้หวัดออกจากระบบรพ.หลังจากนี้ดีเอสไอจะสามารถเดินหน้า การทำงานอย่างเต็มที่โดยใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อีกหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงสาธารณ สุข(สธ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) และกองพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) โดยดีเอสไอจะใช้มาตรการพิเศษทั้งการตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิคส์ เช่น การดักฟังโทรศัพท์ การแฝง-พรางตัว ส่วนการตรวจสอบสถานพยาบาลจำนวน 13 แห่งที่พบข้อมูลชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยงกับการจับกุมยาแก้หวัดล็อตใหญ่ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่าบางแห่งมีรายชื่ออยู่ใน 22 รพ.เป้าหมายที่ดีเอสไอจะตรวจสอบ สำหรับรายชื่อเป้าหมายทั้ง 22 แห่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยมีพบว่าอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ลพบุรี สระบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี และกทม. ซึ่งจากการสอบสวนพบการลักลอบนำยาแก้หวัดออกจากระบบรพ.ตั้งแต่ปี 2551 –ปัจจุบัน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้กว่า 48 ล้านเม็ด ส่วนที่ไม่สามารถจับกุมได้คาดว่ามีเป็นจำนวนมาก ยังไม่สามารถประเมินได้
นายธาริต กล่าวต่อว่า จากการสนธิกำลังร่วมกันของหลายฝ่ายจะทำให้การสอบสวนใช้เวลาไม่นาน เบื้องต้นผู้ที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานทั้งผู้อำนวยการรพ. เจ้าของคลินิก จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่ามีการกำกับดูแลอย่างดีแล้วอาจไม่ถือว่ามีความผิดในทาง อาญา แต่ในส่วนความผิดทางวินัยสธ.จะเป็นผู้พิจารณา พร้อมกันนี้ได้หารือกับสธ. เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีตัวยาอื่นที่สามารถนำไปเป็นตั้งต้นผลิตยาเสพติดได้หรือ ไม่ ซึ่งกรณีสารซูโดอีเฟดรีน พบว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้ามากถึง 21 รายชื่อเฉพาะที่ตรวจสอบพบในการจับกุมล็อตใหญ่ที่อ.สันกำแพง ซึ่งมีข้อมูลล่าสุดว่ายาแก้หวัดที่จับกุมได้มีมากกว่า 1.2 ล้านเม็ด การสอบสวนของดีเอสไอจะดำเนินคดีทั้งพ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตประสาท พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และประมวลกฎหมายอาญา