เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข( สธ.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์เนื่องในวันวาเลนไทน์ประจำปี 2555 ว่า สธ.มีความห่วงใยปัญหาสำคัญ 2 เรื่องใหญ่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรคเอดส์ และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เยาวชนควรเก็บเรื่องเพศสัมพันธ์ไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม และหากมีเพศสัมพันธ์จะต้องมีการป้องกัน โดยใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดเดียวเท่านั้นที่ป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิดและการตั้งครรภ์ที่ได้ผลดีที่สุด ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สธ.ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจพฤติกรรมการใช้และการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน อายุ 12-24 ปี ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จากกลุ่มตัวอย่าง 1,014 คน พบว่าเยาวชนไทยร้อยละ 69 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในกลุ่มที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ระบุว่าเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 14-15 ปี ในจำนวนนี้ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 52 ข้อมูลที่สำคัญพบว่ามีเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 ยอมรับว่าเคย "สวิงกิ้ง" หรือเปลี่ยนคู่นอน ขณะที่ในเรื่องของทัศนคติของเยาวชนที่มีต่อถุงยางอนามัย พบเพียงร้อยละ 43 เห็นว่าถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ แต่ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 89 ไม่พกถุงยางอนามัย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในปัจจุบัน พบว่าอัตราการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี เพิ่มจากร้อยละ 17.33 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 19.31 ในปี 2553 ส่วนอายุเฉลี่ยที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์นั้นเร็วขึ้น โดยในเพศชายมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ย 12 ปี และเพศหญิงเฉลี่ย 13 ปี ซึ่งพบว่ามีการใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 53.2 อีกทั้งยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคือจำนวนผู้ป่วยหนองในมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2543 มีอัตราผู้ป่วยโรคนี้จาก 22.3 รายต่อแสนประชากร เป็น 42.2 รายต่อแสนประชากรในปี 2553 อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มเยาวชนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะทำให้ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของเอดส์ระลอกใหม่ได้ ซึ่งข้อมูลการติดเชื้อเอชไอวีในไทยพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมรวม 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 6 แสนคน ที่ยังมีชีวิตอยู่
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เนื่องในวันวาเลนไทน์ปีนี้ จะมีการจัดงานรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ
ภายใต้แนวคิด "รักปลอดภัย ถุงยางอนามัย...เอาอยู่" สำหรับกรุงเทพฯจัดงานรณรงค์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 11.00-18.00 น. ที่ลานกิจกรรม เอ็มบีเค อเวนิวชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างกระแสให้สังคมตื่น การสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกต่อการซื้อ การพกและการใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ที่ถูกต้องและเหมาะสมในวันวาเลนไทน์นี้ นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมโรคยังได้งบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและกองทุนโลก 67 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อถุงยางอนามัยได้ประมาณ 60 ล้านชิ้น แจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
วันเดียวกัน แผนงานสร้างสื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่น ที่มีต่อเรื่องเพศสัมพันธ์ หัวข้อ "รักจริงรอได้" โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 12-19 ปี จากทุกภูมิภาค 2,428 คน ระหว่างวันที่ 22-27 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า 4 ใน 5 ของวัยรุ่น หรือกว่าร้อยละ 80 มองว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องใหญ่และไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะผู้หญิงมีถึงร้อยละ 86.04 ผู้ชายมีร้อยละ 69.75 สำหรับความเห็นต่อการมีเพศสัมพันธ์เพื่อแสดงความรัก พบว่าไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 77.77 อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนเห็นด้วย วัยรุ่นชายร้อยละ 34.38 เพศที่ 3 ร้อยละ 36.05 มากกว่าเพศหญิง ที่มีเพียงร้อยละ 13.05 เมื่อดูระดับการศึกษา พบว่าวัยรุ่นในระดับปริญญาตรีเห็นด้วยกับการมีเพศสัมพันธ์เพื่อแสดงความรักร้อยละ 23.04 ระดับ ปวส.ร้อยละ 48.98 มากกว่าวัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษา ที่มีร้อยละ 20.04
เมื่อดูด้านบทบาทของครอบครัว ในประเด็นการมีเพศสัมพันธ์เพื่อแสดงความรัก พบว่าเยาวชนที่มีทั้งพ่อและแม่
ไม่เห็นด้วยจะมีเพศสัมพันธ์เพื่อแสดงความรักถึงร้อยละ 80.33 ในขณะที่เยาวชนมีพ่อดูแลคนเดียวไม่เห็นด้วยร้อยละ 67.7 หมายความว่าครอบครัววัยรุ่นที่ไม่มีแม่ที่บ้าน มีแนวโน้มจะเห็นการมีเพศสัมพันธ์เพื่อแสดงความรักมากกว่าวัยรุ่นที่มีแม่ที่บ้าน ยังพบว่าครอบครัววัยรุ่นที่ไม่มีแม่ที่บ้าน มีแนวโน้มที่จะเห็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องเล็กกว่าวัยรุ่นที่มีแม่ที่บ้าน โดยวัยรุ่นที่มีทั้งพ่อและแม่ที่บ้านเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ร้อยละ 81.44 ในขณะที่วัยรุ่นที่มีพ่อคนเดียวเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าคือร้อยละ 72.78 และวัยรุ่นที่มีแม่คนเดียวเห็นเป็นเรื่องใหญ่ร้อยละ 80.73 แสดงว่าสถาบันครอบครัวมีผลต่อกระบวนการคิดของวัยรุ่นอย่างมาก