วันนี้ (24 ม.ค.) ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม
มีการประชุมเรื่องแนวทางการจัดการปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 41 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ได้มีการให้หัวหน้าอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ที่มีปัญหาเรื่องช้างป่าและความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับคนอย่างรุนแรง เช่น อุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขตษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ปัญหาช้างป่าและแนวทางปฎิบัติที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน กล่าวว่า ขบวนการล่าช้างมีมานานเป็นสิบๆ ปี
ก่อนที่ตนจะมาเป็นหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2551 เดิมทีเป็นการล่าเฉพาะลูกช้างเท่านั้น และทำร้ายแม่เพื่อเอาลูก แต่ขณะนี้มี 4 รูปแบบ คือ ล่าเอาลูกช้าง ล่าเอางา ล่าเอาอวัยวะซึ่งพบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2553 และรูปแบบสุดท้ายคือทั้งล่าเอางาและอวัยวะ โดยแก๊งล่าช้างมีอาวุธเหนือกว่าเจ้าหน้าที่ 2-3 เท่า ภัยคุกคามเรื่องช้างเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่ามีช้างตายในป่าทั่วประเทศเดือน 1 ตัวด้วยซ้ำ เพราะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก แต่ไม่เคยมีการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน เรื่องเหล่านี้เราไม่ควรอายหรือบิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งบางพื้นที่อาจจะปิดบังเนื่องจากกลัวความผิดที่ปล่อยให้สัตว์ป่าถูกฆ่าตาย
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตนทำเรื่องนี้มา 3 ปี รู้หมดว่าในขบวนการใครเป็นใคร คนเหล่านี้เป็นพวกมืออาชีพแต่ไม่มีอาชีพ
และมีคนที่มีอิทธิพลเป็นฝ่ายส่งอาวุธ และยาสลบมาให้ ขบวนการนี้ไปไกลเกินกว่าที่เราจะคาดการณ์ ทั้งนี้ตนยืนยันว่ามีแต่กรมอุทยานฯ กับกรมป่าไม้เท่านั้นที่ทำหน้าที่ปกป้องสัตว์ป่าและทรัพยากรป่าไม้ ไม่เห็นมีหน่วยงานอื่นมาช่วย โดยเฉพาะตำรวจเรามีพยานหลักฐานผู้กระทำผิดทุกอย่าง แต่เมื่อนำไปยื่นให้กับตำรวจกลับปล่อยให้หลุด แต่กลับออกหมายจับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แทน และบอกว่าฝ่ายนั้นบริสุทธิ์