วันที่ 11 ม.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ง. แถลงข่าวกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เจ้าหน้าที่ สตง. และเจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย โดยเฉพาะอ้างตนว่าเป็นเลขาธิการ ป.ป.ง.หลอกเหยื่อ โดยหลอกให้หญิงสูงวัยคนหนึ่งนำเงินสดที่มีอยู่ในบัญชีทั้งหมดโอนเข้าบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งยาเสพติดที่ถูกจับกุม หากไม่ทำจะถูกจับกุม และถูกอายัดเงินในบัญชี ทำให้เหยื่อหลงเชื่อตามคำหลอกลวงให้โอนเงินเข้าบัญชีคนร้ายที่เปิดไว้รองรับเงินจากผู้เสียหาย จำนวน 75 บัญชี 269 ครั้ง จำนวน 26,750,185 บาท ตั้งแต่วันที่ 21- 22- 23- 24- 26-27 ธันวาคม 2554และ 4 มกราคม 2555 เป็นเวลาประมาณ 10 วัน ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมฝากเงินเข้าเครื่องรับฝากเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ (CDM) เข้าบัญชีคนร้ายซึ่งเป็นบัญชีของธนาคารกรุงเทพ ใช้นอมินีคนไทยเปิดบัญชีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งคนร้ายทำให้เหยื่อหลงเชื่อด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างเป็นระบบเหมือนกับหน่วยงานราชการจริงๆ พูดจาน่าเชื่อถือหลอกลวงเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการบำนาญ ครู อาจารย์ และเลือกคนสูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังภายในบ้าน
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า คนร้ายจะใช้วิธีการนำข่าวการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดทางภาคเหนือมาสวมข่าว
และอ้างชื่อสวมรอยบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่น่าเชื่อถือ ให้เหยื่อหลงเชื่อว่า มีชื่อเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทำให้เหยื่อตกใจกลัวและหลงเชื่อโอนเงินไปให้ตรวจสอบเพื่อความบริสุทธ์ใจในการเคลียร์บัญชีว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน ทั้งนี้จากการรวบรวมพยานหลักฐานของเหยื่อรายนี้พบว่า การหลอกลวงได้เงินไปจำนวนมหาศาล และเป็นที่น่าสังเกตว่าคนร้ายมีเครือข่ายจำนวนมาก โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีรายชื่อและประวัติอยู่ในเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังจับตามอง ซึ่งป.ป.ง.จะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ให้ตรวจสอบระบบการสื่อสารว่า เหตุใดคนร้ายจึงเข้ามาแทรกแซงระบบการสื่อสารของประเทศ จนสามารถล็อกโทรศัพท์ของเหยื่อได้
ป.ป.ง. สั่งอายัด 75 บัญชีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตุ๋นหญิงชรา 26 ล้าน
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ปปง. พาเหยื่อไปแจ้งดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการกองปราบปราม และทำการอายัดบัญชีทั้งหมด
รวมทั้งทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพ ว่าเหตุใดการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินจำนวนมาก จึงไม่ถูกรายงานเข้ามายังป.ป.ง. ทั้งที่เป็นธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติ สถาบันการเงินต้องทำหน้าที่รักษาทรัพย์สินให้กับลูกค้า แต่การที่ไม่มีการตรวจสอบ ปล่อยให้เบิกถอนเงินในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทุกวัน แสดงให้เห็นถึงความบกพร่อง หากธนาคารรายงานให้ป.ป.ง.รับทราบโดยเร็ว จะสามารถอายัดเงินได้ทันท่วงที แต่กรณีที่เกิดขึ้นป.ป.ง.ทราบเรื่องช้าไป แม้จะสั่งอายัดบัญชีทั้ง 75 บัญชี แต่พบว่าบางบัญชีมียอดเงินคงเหลือศูนย์บาท บัญชีที่มีเงินคงเหลือมากที่สุดประมาณ 70,000 และ 90,000 บาทเท่านั้น
“กลุ่มนอมินีที่รับจ้างเปิดบัญชีให้คนร้ายทั้ง 75 บัญชี จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะต้องถูกยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดด้วย โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดอยู่มีประมาณ 4-5 กลุ่ม มีฐานปฏิบัติงานในต่างประเทศ และเชื่อว่าแก๊งนี้เป็นรายใหญ่เนื่องจากมีบัญชีเงินฝากกระจายอยู่ทั่วประเทศ สถิติผู้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตั้งแต่ ม.ค. 54- ม.ค. 55 มีทั้งสิ้น 200 คดี ผู้เสียหายประมาณ 70 รายมูลค่าความเสียหาย 80 ล้านบาท” เลขาธิการ ป.ป.ง. ระบุ
ด้านหญิงสูงวัยที่ตกเป็นเหยื่อ เปิดเผยว่า ไม่ทราบว่าถูกหลอก เพราะไม่เคยดูข่าว
ตลอด 10 วันที่ผ่านมาก็ไม่สามารถติดต่อใครได้ นอกจากกลุ่มร้าย ใครโทรเข้ามาก็ปรากฏเป็นมิสคอลล์ โทร.ออกไม่ได้ นอกจากนี้คนร้ายก็ใช้วิธีการที่แยบยล หลอกลวงจนทำให้เชื่อถือ ครั้งแรกอ้างว่าตนติดหนี้บัตรเครดิต ต่อมาก็อ้างว่าถูกธนาคารแห่งประเทศไทย ป.ป.ง. ป.ป.ส. ส.ต.ง. ตรวจสอบ และอ้างตัวเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
“แก๊งคอนเซ็นเตอร์อ้างเป็นพ.ต.อ.สีหนาท พร้อมระบุว่า จับกุมเครือข่ายยาเสพติดในภาคเหนือได้ โดยมีอดีตพนักงานของธนาคารกสิกรไทยที่ถูกไล่ออกเข้าไปเกี่ยวข้อง และยังบอกว่ามีชื่อของตนเองเข้าไปพัวพันกับแก๊งฟอกเงิน จึงทำให้รู้สึกตกใจ และคนร้ายยังบอกอีกว่าจะให้ความช่วยเหลือโดยของตรวจสอบเงินในบัญชีทั้งหมด จึงไปถอนเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มาทยอยโอนให้คนร้ายตามบัญชีที่คนร้ายอ้างว่าเป็นรหัสธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นเลขบัญชีของคนร้าย” หญิงสูงวัย กล่าว