ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(1)

ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(1)

เมื่อช่วงสามทุ่มครึ่งของวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เกิดเหตุรถชนกันบนทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ฝั่งขาเข้าช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ระหว่างรถเก๋งฮอนด้าซีวิค สีขาวและรถตู้โดยสารสาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต-หมอชิต เป็นเหตุให้รถตู้ที่มีผู้โดยสารเต็มคันพลิกคว่ำ


เพดานรถตู้คันดังกล่าวเปิดออกทั้งคัน มีผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถ เสียชีวิตทันที 8 รายคือ

ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง อายุ 33 ปี นักวิทยาศาสตร์ประจำสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นายปรัชญา คันธา อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

น.ส.สุดาวดี นิลวรรณ อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มธ.

นาย เกียรติมันต์ รอดอารีย์ อายุ 23 ปี นักเรียนทุนศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.

นายภิญโญ จินันทิยา อายุ 34 ปี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารจัดการงานเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ.

น.ส.ตรอง สุดธนกิจ อายุ 23 ปี บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มธ.

นายอุกฤษณ์ รัตนโฉมศรี อายุ 30 ปี นักวิจัยไบโอเทค สวทช. 

นางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 37 ปี คนขับรถตู้


 

ต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหนึ่งรายคือน.ส.จันจิรา ซิมกระโทก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ.  รวมทั้งสิ้น 9 ราย สำหรับผู้โดยสารที่เหลืออีก 6 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส


ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(1)

นอกจากความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้น บวกกับผู้ขับรถซีวิคนี้เป็นสาวอายุเพียง 16 ปี จากตระกูลดัง

จึงยิ่งทำให้คดีนี้ได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายมากขึ้น

เกิดกระแสการโจมตีเด็กสาวอย่างรุนแรงผ่านสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก


เสมือนเป็นการตัดสินโทษว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความผิดของเธอ


ยิ่งเมื่อขุดคุ้ยประวัติเด็กสาวดังกล่าวจนทราบว่าเป็นไฮโซตระกูลดัง


ญาติพี่น้องล้วนเป็นคนใหญ่คนโตในแวดวงทหารและตำรวจด้วย


ยิ่งทำให้กระแสเกลียดชังเธออีกเพิ่มมากขึ้นจนมีการสร้างแฟนเพจในเฟซบุ๊กว่า

“มั่นใจคนไทยเกินหนึ่งล้านคนไม่พอใจ....”


นอกจากนี้ภาพที่เด็กสาวดังกล่าวยืนข้างรถกำลังใช้สองมือกดโทรศัพท์หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เสมือนว่า “กำลังกด บีบี “ เล่น ทำให้ผู้คนในโลกสังคมออนไลน์คิดว่า เธอไม่ได้รู้สึกอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย เพราะยังอารมณ์ดีมากดโทรศัพท์คุยกับเพื่อน

ประกอบกับที่เหตุการณ์ครั้งนี้เด็กสาวได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคู่กรณีที่ต้องสูญเสียไปหลายชีวิตทำให้กระแสสังคมไม่พอใจเธอหนักขึ้นไปอีก
 

การโจมตีเด็กสาวอย่างรุนแรง ถึงขั้นเสียๆ หายๆ ผ่านเฟซบุ๊กนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจเพราะฝ่ายที่เสียหายนั้นต้องการสร้างกระแสเพื่อให้สังคม สื่อ และกระบวนการยุติธรรมไม่ปล่อยให้คดีนี้ต้องเงียบหายไปอย่างง่ายๆ


สิ่งที่ฝ่ายเด็กสาวพลาดไปคือการปล่อยเวลาให้กระแสสังคมวิจารณ์เธอนานหลายวัน
กว่าจะออกมามอบตัวกับตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2554 และพูดออกสื่อเพียงสั้นๆ ว่า
“ขอโทษค่ะ หนูเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นอุบัติเหตุ”
 

เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้รถชนผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายมีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส อีกทั้งแจ้งข้อหาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่


ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(1)

ด้าน ม.ธรรมศาสตร์ ที่สูญเสียทรัพยากรบุคคลสำคัญทั้งนักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากร จึงตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาดูแลคดีเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด โดยทำเรื่องถึงการอัยการฟ้องเด็กสาวดังกล่าว


คดีนี้คงจบไปแล้วหากเด็กสาวยอมรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เป็นโจทก์ร่วมกับ มธ. ฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า


จากสำนวนความผิดของเธอ ระบุว่า  เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เวลากลางคืน จำเลยขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซีวิค หมายเลขทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ มุ่งหน้าถนนดินแดง ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยจำเลยได้กระทำประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะปกติจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่

โดยจำเลยไม่ขับรถในช่องทางซ้าย เมื่อมาถึงบริเวณแยกทางลงบางเขน ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปลี่ยนช่องทางจากช่องขวาสุดมาช่องทางซ้ายถัดมา และยังเปลี่ยนกลับไปยังช่องทางขวาอีก เป็นเหตุให้รถยนต์ซีวิคของจำเลยพุ่งเข้าชนรถยนต์ตู้โดยสารทะเบียน 13-7795 กรุงเทพฯ วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่มี นางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 38 ปี เป็นคนขับ ทำให้รถยนต์ตู้เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์พลิกคว่ำพังเสียหาย คนขับรถตู้โดยสารและผู้โดยสารภายในรถยนต์ตู้ กระเด็นออกจากตัวรถตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 คน และบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก ส่วนรถยนต์ของจำเลยแฉลบเลยจากรถยนต์ตู้ประมาณ 50 เมตร นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ โดยมีหลักฐานเป็นรายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลย ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธโดยตลอด


แต่เธอได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา...


ทำให้คดีนี้ต้องยืดเยื้อออกไป เดิมต้องนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่เพราะปัญหาน้ำท่วมทำให้ตอนนี้เลื่อนมาเป็นเดือนเมษายน 2555 แทน


สำหรับในทางคดีเพ่งตอนนี้ทนายได้ยื่นฟ้องแล้วรวม  13 คดี โดยศาลนัดสืบพยาน 5 มีนาคม นี้ที่ผ่านมาคดีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยุติธรรมและขั้นตอนของกฎหมาย
...ไม่ได้มีความผิดปกติหรือมีการใช้อำนาจเหนือกฎหมายแต่อย่างใด

ความผิดของเธอคือ

1.ความผิดขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ความผิดขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์ มีโทษปรับ 400-1,000 บาท

หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง ศาลอาจมีดุลพินิจตัดสินให้จำเลยรับโทษเบาลง ตามเงื่อนไขของกฎหมาย อย่างแรกคือจำเลยเป็นเยาวชน ศาลอาจตัดสินยกเว้นโทษให้
และใช้วิธีการสำหรับเด็กแทนคือ ให้ไปอบรมในสถานพินิจ


ผ่านมาแล้วหนึ่งปี แต่บทสุดท้ายของคดีสะเทือนขวัญวงการคิวรถตู้และการตายอย่างน่าอนาถใจเพราะผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกิดจากการตกลงมาตากทางยกระดับโทลเวย์นั้นยังไม่มีคำตัดสินของศาล
 


ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(1)

บทบาทสังคมออนไลน์

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2553 หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน
ภายในไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งตั้งเพจขึ้นมาบนเฟซบุ๊กชื่อว่า "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ..." หญิงสาวที่ขับรถเก๋งฮอนด้า ซีวิค สีขาว โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งวันก็มีคนเข้ามากด "Like" กว่าหนึ่งหมื่นคน

หนึ่งอาทิตย์ผ่านไปกดไลค์เกือบค่อนแสน จนถึงวันนี้นี้มีคนเข้ามากดไลค์แล้ว สามแสนกว่าคน
แน่นอนว่า ข้อความต่าง ๆ ที่ถูกโพสในหน้าเพจนี้ล้วนแล้วแต่ตัดสินความผิดของหญิงสาวที่ขับรถเก๋ง ฮอนด้า ซีวิคเป็นที่เรียบร้อยโดยไม่จำเป็นต้องรอคำตัดสินของศาลแต่อย่างใด

ความสำคัญของสังคมออนไลน์นอกจากการเข้ามากดไลค์แล้ว ยังมีการพูดถึงภาพที่ถูกแชร์และส่งต่อกันในหน้าเพจดังกล่าวคือ ภาพหญิงสาวเจ้าของกำลังยืนพิงกำแพงบนทางด่วนและก้มหน้ากดโทรศัพท์แบล๊คเบอรี่ ซึ่งข้าง ๆ ตัวเธอก็มีรถฮอนด้าซีวิคประกอบเป็นฉากหลัง

คนในสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นของภาพนี้ในทำนองเดียวกันว่า "เธอกำลังกดบีบีคุยกับเพื่อน" "ชนคนตายยังมีเวลาเล่นบีบี" และอื่น ๆ ที่เป็นความเห็นไปในทาง "เชิงลบ" ต่อหญิงสาว ทั้งสิ้น

ไม่มีใครรู้ว่า "ขณะนั้นเธอกำลังคุยบีบีกับเพื่อนโดยไม่สนใจว่าขับรถชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต" หรือเธออาจจะ "กำลังกดโทรศัพท์แจ้งเหตุและเรียกประกัน ด้วยตัวเองมีอาการบาดเจ็บจึงต้องประคองสองมือ" ดั่งที่แม่ของหญิงสาวบอกกับสังคม

มีแต่เธอเองเท่านั้นที่รู้และไม่ว่าสิ่งที่เธอรู้ขัดแย้งกับสิ่งที่สังคมออนไลน์กำลังบอกสังคมหรือไม่

แต่สังคมออนไลน์ก็ตัดสินไปแล้วเช่นเดียวกัน

คดีนี้ทำให้เห็นบทบาทสำคัญ(อีกครั้ง)ของสังคมออนไลน์ นั่นคือ การขุดคุ้ยประวัติ/ภาพส่วนตัวของหญิงสาวมาแชร์ต่อกันในหน้าเพจนี้และสถานะส่วนตัวเจ้าของเฟซบุ๊กคนอื่น ๆ

บ้างก็เอามาแชร์เพื่อเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงของหญิงสาวดังกล่าวแล้วก็แสดงความคิดเห็นต่อภาพของเธอไปในทางระบายความโกรธแค้นด้วยถ้อยคำที่หยาบคายต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊คทำหน้าที่ได้ดีเสมอ


โดยไม่สนใจว่า หญิงสาวคนนั้นขณะเกิดเหตุมีอายุ 16 ปี 6 เดือน ถือเป็นเยาวชน ย่อมได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายโดยการห้ามเปิดเผยชื่อหรือภาพ แล้วความคุ้มครองนี้หมายรวมว่า แม้จะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงจามที่อัยการส่งฟ้องแล้วก็ตาม


สะท้อนให้เห็นกลไกในการแสวงหาความจริงและหาผู้กระทำความผิดโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ศาลจะตัดสินว่าเธอไม่มีความผิดหรือมีความผิดก็ตาม


แต่สิ่งที่เธอได้รับแน่นอนแล้วก็คือ "การถูกรุมประชาทัณฑ์ในสัคมออนไลน์ มีความผิดโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด"


ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(1)

บทบาทวินรถตู้ใน มธ.ศูนย์รังสิต

วันรุ่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุบัติเหตุดังกล่าว คิวรถตู้ที่วิ่งเส้น มธ.ศูนย์รังสิต-หมอชิต ซึ่งเป็นรถตู้ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นมีผู้มาใช้บริการน้อยลงจำนวนหนึ่ง


แล้วก็เริ่มกลับมาโดยสารกันตามปกติภายใน 2-3 วันต่อมา


แต่ก็มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดหลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวคือ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเรียกเจ้าของคิวรถตู้และตัวแทนคนขับรถตู้ทุกคิวที่วิ่งเข้ามาใน มธ.ศูนย์รังสิตมาประชุมเพื่อหามาตรป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวซ้ำสอง
โดยมีมาตรการที่ชัดเจนและปฎิบัติได้ทันที่คือ


1.ต้องมีการติดใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะของคนขับรถตู้ทุกคัน

2.มีการติดเบอร์โทรศัพท์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย องค์การนักศึกษา มธ. และเบอร์ของตัวแทนคิวรถตู้ไว้สำหรับกรณีที่ให้ผู้โดยสารโทรเข้ามาแจ้งว่า มีคนขับรถคนใดขับด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถโทรมาแจ้งได้ทันที โดยสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจะติดอยู่ตรงท้ายเบาะคนนั่งแทบทุกเบาะ

3.รถตู้ทุกคันที่อยู่ในคิว มธ.ศูนย์รังสิตต้องติดจีพีเอสจับความเร็ว หากรถตู้คันใดขับด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะมีสัญญาณเตือนดังออกมาเพื่อเตือนให้คนขับและผู้โดยสารรู้ว่ารถตู้ขับเร็วเกินกำหนด

4.รถตู้ในคิว มธ. ศูนย์รังสิตทุกคัน ทุกที่นั่งต้องมีที่คาดเข็มขัดนิรภัย

5.ทุกครั้งก่อนที่รถตู้จะออกจากท่ารถ คนเก็บค่าโดยสารจะตะโกนเสียงดังฟังชัดว่า "กรุณาคาดเข็มขัดนิรภัย" ด้วยครับ/ค่ะ


ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุบนทางยกระดับโทลเวย์จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ บาดเจ็บ 5 คน รวมหญิงสาวที่ขับรถเก๋งฮอนด้า ซีวิค สีขาวด้วย

นี่คือการพูดถึงข้อเท็จจริง ย้อนกลับไปดูว่า 1 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น.

ติดตาม พรุ่งนี้ "ครบรอบ 1 ปี อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เก๋งซีวิคขาว-รถตู้มธ.รังสิต-หมอชิต(จบ) : ความคืบหน้าและคดีความ"

เรื่อง พันธวิศย์  เทพจันทร์


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์