ต่อมา จึงมีการระดมทีมเดินเท้าค้นหาจนพบทหารผู้กล้าทั้ง 5 นาย แต่เนื่องสภาพอากาศปิด ไม่สามารถนำฮ.ขึ้นไปรับศพได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9(ผบ.พล.ร.9) จึงตัดสินใจนำฮ.ขึ้นอำนวยการภารกิจ
แต่เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.60 หรือ "แบล็กฮอว์ก" ได้ประสบอุบัติเหตุที่พิกัด NQ 243118 บ้านเขาไม้แดง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน ห่างจุดที่ฮ.ตกลำแรกประมาณ 500 เมตร คร่าชีวิตทหารและสื่อมวลชนรวม 9 นาย คือ
1.พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ.พล.ร.9 2.ร.อ.เจตต์ สุดใจ รอง ผบ.ร้อย.ลว.ไกลที่ 9 3.ร.อ.จักรพันธ์ บำรุงพืช นายทหารยุทธการ 3 ร้อย.ลว.ไกลที่ 9 4.ส.ต.อิทธิศักดิ์ หิณะสุทธิ์ ร้อย.ลว.ไกลที่ 9
5.พ.ท.ประพันธ์ เจียมสูงเนิน นักบินที่ 1 6.พ.ต.ชูพันธ์ พลวรรณ นักบินที่ 2 7.จ.ส.อ.สมคิด วงษ์ตาแสง ช่างเครื่อง 8.ส.อ.อร่าม วงษ์สิงห์ ช่างเครื่อง และ 9.นายศรวิชัย คงตันนิกูล ช่างภาพสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
ส่วนสาเหตุคาดว่า เกิดจาก "สภาพอากาศเลวร้าย" เช่นเดียวกับครั้งแรก
ต่อมา ก็ได้เกิดโศกนาฏกรรม "ซ้ำสาม" เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม โดยเกิดขึ้นขณะการเดินทางไปลำเลียงศพออกจากค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 212 (ฮ.ท.212) หรือ "เบลล์ 212" ได้ทำการบินจากฐานปฏิบัติการที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.)ที่กรุงเทพกลับไปยังค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน เพื่อลำเลียงศพทหารกล้าไปบำเพ็ญกุศลที่ พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี
แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อ ฮ.รุ่นเบลล์ 212 ประสบอุบัติเหตุตกที่พิกัด NQ 719299 กลางไร่ของชาวบ้านหมู่ 7 บ้านหนองเกต ต.แก่งกระจาน ทำให้ทหารเสียชีวิตอีก 3 นาย รอดชีวิต 1 นาย คือ
1.พ.ต.ธีรวัฒน์ แก้วกมล นักบินที่ 1 2.ร.ท.บูรณา หวานใจ นักบินที่ 2 3.จ.ส.อ.วิเชียร จันทร์พัฒน์ ช่างเครื่อง ส่วนผู้รอดชีวิต 1 นาย คือ ส.อ.พัฒนพร ต้นจันทร์ ช่างเครื่อง
สาเหตุเบื้องต้น สันนิษฐานว่า เกิดจาก "วัสดุเสื่อมคุณภาพ" โดยมีการพุ่งเป้าไปที่ 1.ใบพัดหาง 2.คันบังคับเลี้ยว และ 3.ชุดเกียร์
อุบัติเหตุ 3 ครั้งซ้อน กับฮ. 3 ลำ 3 รุ่นของกองทัพบก คร่าชีวิตทหารกล้า และสื่อมวลชนรวมทั้งสิ้น 17 ราย !!!
ภายหลังโศกนาฏกรรมทางอากาศยานครั้งรุนแรงที่สุดของกองทัพไทย กองทัพบกได้สำรวจอากาศยานทั้งหมดภายในกองทัพเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก โดยผลสำรวจพบว่าอากาศยาน โดยเฉพาะฮ.อยู่ในสภาพที่รอซ่อม รออะไหล่ และ "ไม่พร้อมทำการบิน" เกินครึ่ง และนำมาสู่โครงการเสนอจัดซื้อฮ.ของกองทัพบกเพื่อทดแทนของเดิม
โดยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 "เห็นชอบอนุมัติ" ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอครม.ให้พิจารณาอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการจัดหาเบื้องต้นใช้งานทั่วไป ในการจัดซื้อแบล็คฮอว์ค จำนวน 2 ลำ วงเงิน 2,841 ล้านบาท โดยระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-56 โดยงบประมาณปี 54 จำนวน 570 ล้านบาท ปี 55 จำนวน 789 ล้านบาท และปี 56 จำนวน 1,482 ล้านบาท โดยเป็นการจัดซื้อตามยุทธศาสตร์ ที่ต้องมีแบล็คฮอว์ค จำนวน 20 ลำ จากเดิมที่อนุมัติจัดซื้อ 3 ลำ รุ่น L แต่เนื่องจากรุ่น L ได้ปิดสายการผลิต จึงต้องจัดซื้อเครื่องใหม่ซึ่งเป็นรุ่น M ที่มีราคาสูงกว่า เพราะใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ มีสมรรถนะสูงกว่า อายุการใช้งานนานกว่า และควบคุมโดยระบบดิจิตอล
ขณะที่ผลการสอบสวนสาเหตุของฮ.ตกทั้ง 3 ลำ มีการกำหนดกรอบเวลาในการสอบสวนนาน 1 เดือน โดยมีการระบุกว้างๆ ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุ 2 ลำแรก คือ "สภาพอากาศ" ส่วนลำสุดท้ายเกิดจาก "อุปกรณ์ชำรุด"
แต่หลังจากนั้นกระแสข่าวก็เงียบหายไป กลายเป็น "ความลับทางราชการ" เฉกเช่นทุกครั้ง...
....................
(รายงานพิเศษ ลาทีปีกระต่าย : '9 วัน 3 ลำ 17 ศพ!! เซ่นป่าแก่งกระจาน' โดย ทีมข่าวความมั่นคง)