ตำรวจบ้านมั่ว ทำร้ายชาวบ้านเกือบตาบอด
ญาติผู้บาดเจ็บโวยถูกตำรวจบ้านตีด้วยกระบอกไฟฉายจนตาเกือบบอด หมดค่ารักษาไปกว่า 2 แสนบาท แต่ตำรวจช่วยมาเพียง 5 หมื่นบาท ขณะที่ ผกก.ระบุดำเนินคดีทั้ง 2 ฝ่าย เงินที่ช่วยเหลือก็เป็นสินน้ำใจจากตำรวจเอง ส่วนใครผิด-ถูก ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เวลา 11.30 น.
นางสุขสม แหวนทองคำ อายุ 46 ปี (เสื้อเหลือง) อยู่บ้านเลขที่ 21 ม.10 แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กทม.พร้อมด้วย นายอโณทัย โซ๊ะมิน อายุ 35 ปี มารดา และพี่ชายของนายสุธี แหวนทองคำ (คนเจ็บ) อายุ 18 ปี นักศึกษา ปวช.ชั้นปีที่ 3 แผนกช่างยนต์ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ที่ถูกอาสาสมัครตำรวจบ้าน สน.หนองจอก ทำร้ายร่างกายจนกระทั่งตาข้างขวาเกือบบอด
ได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความเป็นธรรมเนื่องจากไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายอโณทัย เปิดเผยว่า
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.เวลาประมาณ 21.00 น. นายสุธีได้ขับขี่จักรยานยนต์ ยี่ห้อคาวาซากิ สีเขียว จากร้านขายของในปั๊มน้ำมันบางจากเพื่อกลับบ้านซึ่งอยู่ห่างจากร้านประมาณ 2 กม. ขณะที่ขับมาถึง ถ.เลียบวารี แยกโรงสีสุขใจ แขวงและเขตหนองจอง มีด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งอยู่ นายสุธีจึงได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านด่านไป และได้วิ่งมาด้วยความเร็วประมาณ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันบริเวณตั้งด่าน เลยผ่านด่านไป 50-60 เมตรจึงได้หยุดรถ
ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ 4-5 นายได้วิ่งออกมาทำร้ายโดยใช้กระบอกไฟฉายตีเข้าที่บริเวณดวงตา มีรอยแผลแตกและมีเลือดไหลในดวงตาหนักมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลหนองจอก และโทร.มาบอกมารดาว่าน้องชายประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม ซึ่งตนเองกับมารดาก็รีบเดินทางไปที่โรงพยาบาล
นายอโณทัย กล่าว
"เมื่อไปถึงโรงพยาบาล น้องชายอยู่ในห้องฉุกเฉิน แพทย์ได้ทำการรักษาและทำแผลให้ จากนั้นก็ให้ไปรอรับยา ระหว่างที่ยืนรอรับยาอยู่นั้นน้องชายเกิดปวดตาและมีเลือดไหลออกมาที่ตาดำ ตนจึงได้ถามน้องชายและได้ทราบความจริงว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย จึงได้เรียกหมอให้ออกมาดูอาการของน้อง หมอได้บอกว่าไม่มีหมอรักษาตา แต่บอกให้ทำการย้ายโรงพยาบาล ทำหนังสือและส่งต่อไปยังโรงบาลนพรัตน์ราชธานี ทางโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ บอกว่าตอนนี้หมอตาไม่อยู่เพราะดึกแล้ว ผมและมารดาคิดว่าจะต้องรักษาดวงตาน้องไว้จึงตัดสินใจส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลรามคำแหง"
นายอโณทัย กล่าวต่อด้วยว่า
เมื่อไปถึงโรงพยาบาลรามคำแหงแพทย์ก็ได้พาเข้าห้องผ่าตัดทันที ซึ่งค่ารักษาพยาบาลน้องชายต้องใช้เงินมากกว่า 200,000 บาท ซึ่งในขณะนี้ตาก็ยังไม่สามารถมองเห็นได้ แม้จะกลับไปพักฟื้นที่บ้านแต่ก็ต้องมาพบแพทย์อยู่ตลอดเพื่อดูอาการ และแพทย์บอกว่าโอกาสที่จะหายกลับมามองเห็นเป็นปกติมีน้อยมาก และคงต้องรักษาตาอีกเป็นปี
นายอโณทัย กล่าวต่ออีกว่า
หลังจากเกิดเหตุสอบถามน้องชายน้องชายจำได้ว่า คนที่ใช้ไฟฉายตีเข้าที่ตา คือ นายดำรง สะมะทอง อายุ 42 ปี อาสาสมัครตำรวจบ้าน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานตำรวจในคืนนั้น จึงได้เข้าไปแจ้งความต่อ พ.ต.ต.ประเสริฐ จันทร์ทอง พนักงานสอบสวน สน.หนองจอกไว้ ซึ่งทางพนักงานสอบสวนก็รับแจ้งความไว้
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2549
พ.ต.อ.สุศักดิ์ ปรักมะกุล ผกก.สน.หนองจอก ขอเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอม โดยยอมรับผิดว่าผู้ที่ทำผิดเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จึงจ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็นเงิน 50,000 บาท และจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เหลือ พ.ต.อ.สุศักดิ์บอกว่าจะจ่ายให้อีกในภายหลัง 50,000 บาท
ตนเองเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ครอบครัวตนเองก็ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะจ่ายได้ ใครจะมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และตำรวจเองก็พยายามช่วยเหลือผู้กระทำผิดโดยไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตนจึงเดินทางร้องขอความเป็นธรรมกับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ให้ช่วยเหลือ
ด้าน พ.ต.อ.สุศักดิ์ ปรักกมะกุล ผกก.สน.หนองจอก กล่าวว่า
เรื่องที่เกิดขึ้นตนเองทราบดี วันนั้น เป็นการตั้งด่านตรวจตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรคอยควบคุมดูแล และมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครไปช่วยงานด้วย ทราบว่านายสุธีได้ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาที่ด่านโดยไม่ได้สวมหมวกกันน็อกเมื่อเจอด่านจึงหยุดรถกะทันหันรถจึงเสียหลักไปชนนายดำรงซึ่งเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน สน.หนองจอก จนได้รับบาดเจ็บเป็นแผลถลอก ทำให้นายดำรง ทำร้ายร่างกายโดยใช้ไฟฉายตีไป
เรื่องนี้ได้ดำเนินคดีไปแล้วทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายนายดำรงค์ถูกแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งรอผลแพทย์ว่าบาดเจ็บสาหัสหรือไม่ ถ้าบาดเจ็บก็จะแจ้งข้อหาเป็นทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนนายสุธีได้แจ้งข้อขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ
พ.ต.อ.สุศักด์ กล่าวด้วยว่า
สำหรับเงิน 50,000 บาท ที่ให้การช่วยเหลือนั้นเป็นการเอื้ออาทรของตำรวจที่มีให้ ซึ่งถ้าเราไม่ให้เงินหรือไม่ให้ความช่วยเหลือก็เป็นเรื่องที่กระทำได้ เพราะตำรวจไม่ได้เป็นผู้กระทำ และทุกอย่างก็ดำเนินไปตามกฎหมาย อาสาสมัครเขาก็คงจะทำไปเพราะรถจะเข้ามาชน ส่วนจะทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์