´แคมฟรอก´ ท้า ไม่มีทางปิดได้

"คาดนานไปคงเลิกไปเอง"


กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งก๊อบปี้ภาพวัยรุ่นโชว์หวิวในโปรแกรมสยิวแคมฟรอก จ่อตะครุบมาดำเนินคดีในข้อหาทำลามกอนาจารในที่สาธารณะ หลังโปรแกรมดังกล่าวแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นไทย ที่หมกมุ่นเอาไปใช้ผิดประเภท ขณะที่กฎหมายไทยในปัจจุบันล้าสมัย ไปไม่ทันเทคโนโลยีที่รุดหน้า แถมหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบไม่กวดขัน จนภาคเอกชนทนไม่ไหว ส่งเสียงเรียกร้องผ่านสื่อ ให้เห็นแก่อนาคตลูกหลานไทย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน ผบ.สำนักคดีและเทคโนโลยี กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การบล็อกเว็บไซต์ ให้บริการดาวน์โหลดโปรแกรมแคมฟรอก เป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานนิยมเล่นอินเตอร์เน็ต ไม่ควรตื่นตกใจ เพราะโปรแกรมนี้ยังไม่เป็นที่นิยมของเด็กประถมหรือมัธยม ปัญหาที่ต้องแก้ไข คือต้องไม่ให้กลุ่มนักศึกษาหรือวัยทำงาน เข้าไปใช้โปรแกรมนี้ในทางที่ผิด หากไม่แน่ใจไม่ควรซื้อกล้องเว็บแคมให้กับบุตรหลาน เป็นการปิดโอกาสในตัว ส่วนผู้ที่ชอบโชว์สรีระในโปรแกรมแคมฟรอก ส่วนใหญ่เป็นกะเทยที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว คิดว่านานๆไปคงลดความนิยมลงไปเอง

"พรบ.แก้ไขความผิดเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต"


ที่รัฐสภา เครือข่ายอินเตอร์เน็ตปลอดภัยสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สถาบันรูรัลเน็ต สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยนายสุนิตย์ เชรษฐา ผจก.แผนงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต้องใช้ความเด็ดขาด ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ร่างมาตั้งแต่ปี 2546 นอกจากจะไม่ทันเทคโนโลยีแล้ว ยังไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญกับการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนด้วย ควรเพิ่มบทบัญญัติปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเด็ก เยาวชน ห้ามผู้ให้บริการนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไปเปิดเผย รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ปิดกั้นเว็บไซต์

ขณะที่คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม แต่ทราบว่า นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ. ทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้หารือถึงแนวทางแก้ไขกับนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีไอซีที เพราะต้อง รอข้อมูลที่ถูกต้องก่อน แต่ข้อมูลที่สื่อมวลชนระบุว่า คนไทยใช้โปรแกรมชนิดนี้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ถือเป็นเรื่องอันตราย เชื่อว่า กระทรวงไอซีทีไม่ได้นิ่งนอนใจ คงอยู่ระหว่างศึกษาหาวิธีปิดหรือบล็อกโปรแกรมนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม จะรวบรวมข้อมูลที่ได้นำไปประสานกับทางกระทรวงไอซีที เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วที่สุด

"ค่าเฉลี่ย เด็กและเยาวชนเข้าดูร้อยละ 30 เป็นเว็บบันเทิง"


นายสมชาย เจริญอำนวยสุข รอง ผอ.สท. (สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ. ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เสนอ ครม. เพื่อประกาศใช้ควบคุมการกระทำที่สื่อไปในทางลามกอนาจารในอินเตอร์เน็ต มีโทษทั้งจำและปรับ ลักษณะคล้ายกฎหมายฟอกเงิน เพราะข้อมูลรายงานสภาวการณ์เด็ก และเยาวชนในปี 2547-2549 พบว่า เวลาเฉลี่ยที่เด็กประถมศึกษาใช้เล่นอินเตอร์เน็ตนานถึง 75.66 นาทีต่อวัน

ขณะที่ระดับมัธยมศึกษา-อุดมศึกษา ใช้เวลา 94.01 นาทีต่อวัน ที่สำคัญ พบว่า ใช้เพื่อการบันเทิงมากกว่าการศึกษา โดยข้อมูลจาก NECTEC พบว่าเว็บไซต์ที่เด็กและเยาวชนเข้าไปดูมากที่สุด กว่าร้อยละ 30 เป็นเว็บไซต์บันเทิง ขณะที่เข้าไปดูเว็บไซต์ด้านการศึกษา แค่ร้อยละ 2 เท่านั้น นอกจากนี้ ผลสำรวจของเอแบคโพล เรื่อง การใช้เวลาว่างช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อนของนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-24 ปี ในเขต กทม. และหัวเมืองใหญ่ อันดับแรกได้แก่ ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊เปลือย สูงถึงร้อยละ 53.8

"ไม่เกรงกลัว"


นายสมชายกล่าวต่อว่า ในส่วน สสส. สำรวจเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กไทย อายุ 15-24 ปี ใน กทม. 1,464 คน พบว่าเด็กอายุไม่ถึง 12 ปี เริ่มใช้อินเตอร์เน็ต ถึงร้อยละ 20.8 เด็กอายุ 13-15 ปี เริ่มใช้มากที่สุดร้อยละ 45.3 โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่เริ่มใช้คือ 5 ขวบ สำหรับเวลาที่เด็กนิยมใช้อินเตอร์เน็ตคือเวลา 20.01-24.00 น. ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนของเด็กในวัยเรียน ขณะที่ผู้ปกครองไม่ทราบว่าบุตรหลานดูอะไรในอินเตอร์เน็ต สูงถึงร้อยละ 44.8 มีเพียงร้อยละ 12.6 เท่านั้นที่ดูแลการใช้ เช่นเดียวกับครู-อาจารย์ กว่าร้อยละ 33.1 ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกศิษย์ ใช้อินเตอร์เน็ต

มีรายงานว่า หลังสื่อมวลชนตีแผ่โปรแกรมแคมฟรอก แต่ภาครัฐยังไม่มีการปิดหรือบล็อกโปรแกรมดังกล่าวได้ ทำให้กลุ่มเด็ก และวัยรุ่นพากันเข้าไปสมัครเป็นสมาชิก และโชว์อนาจารกันมากขึ้นอย่างไม่เกรงกลัว รวมทั้งมีห้องสนทนาประเภทโชว์ลามกเกิดขึ้นในโปรแกรมแคมฟรอกอีกหลายห้อง เช่น ห้องระยำ ห้องไทยเกิร์ลมูฟ ขณะที่ห้องสนทนาที่มีอยู่เดิมอย่าง ห้องจัญไร มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกนับพันคน มีการวิพากษ์วิจารณ์ท้าทาย ภาครัฐในเรื่องการทำงานที่ไม่ได้ผล โดยแสดงความคิดเห็นต่างๆทำนองว่า กระทรวงไอซีทีไม่มีทางปิดโปรแกรมแคมฟรอกได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์