เด้ง4เสือโรงพักโพธิ์แก้วเซ่นฟูลมูนผับ

สั่งเด้งฟ้าผ่า 4 เสือโรงพักโพธิ์แก้วเซ่นฟูลมูนผับ สามพราน  นครปฐม กรมพินิจฯ แจงเจอเสพยาแค่ 5


เมื่อเวลา 03.30 น. วันที่ 20 เม.ย. พล.ต.ต.แสงสูรย์ กรรณสูต ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 และเจ้าหน้าที่ปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้นำกำลังเข้าร่วมกันตรวจค้นร้านฟูลมูนผับ สถานบันเทิงชื่อดังย่าน ต.อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม หลังสืบทราบว่าเปิดให้บริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและปล่อยให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการ

โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงได้กระจายกำลังกันควบคุมประตูด้านหลังร้าน เพราะประตูด้านหน้าถูกปิดแล้ว

ซึ่งเมื่อเข้าไปพบยังคงให้บริการ โดยมีนักเที่ยวกว่า 300 คน ใช้บริการเต้นกันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ปิดเพลงเปิดไฟทุกคนต่างตกใจและพยายามวิ่งหลบหนี แต่ไปไหนไม่รอด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี

นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณหลังร้านได้มีการลักลอบเปิดให้เล่นการพนันถั่วหยิบกันอย่างผิดกฎหมาย

โดยพบนักพนักจำนวนกว่า 17 คน กำลังเล่นกันอย่างหน้าดำคร่ำเคร่ง จึงควบคุมตัวไว้ พร้อมยึดอุปกรณ์การเล่น พร้อมด้วยเงินสดจำนวนหนึ่ง,อาวุธปืนลูกโม่ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก,เครื่องกระสุนปืนและสมุดบัญชีจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่จำนวน 20 นาย คนละ 500 บาทต่อวัน จึงรวบรวมเก็บเป็นหลักฐาน

พล.ต.ต.แสงสูรย์ กล่าวว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ทราบว่า
 
ร้านดังกล่าวเปิดให้บริการกับนักเที่ยวราตรีที่เป็นเยาวชนมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี แล้วและมีการร้องเรียนมายังนายกรัฐมนตรีและสายตรงมายังกองบัญชากรตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงได้วางแผนนำกำลังเข้าตรวจค้น ทั้งนี้พบเยาวชนที่เข้ามาใช้บริการนั้นมีอายุต่ำสุดแค่ 14 ปี เท่านั้น โดยเยาวชนที่เข้ามาใช้บริการจะต้องเสียค่าเข้าคนละ 100 บาท

เบื้องต้นจึงแจ้งข้อหา "เปิดสถานบริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและปล่อยให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ามาให้บริการ" นอกจากนี้ยังจะได้มีการตรวจสอบใบอนุญาตจำหน่ายสุราและใบอนุญาตเปิดสถานประกอบการว่าถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนโพยเงินส่วยที่ตรวจยึดมาได้นั้นจะต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง


ด้าน พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน ผบช.ภ.7 กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ถ้าพบว่า ผกก.ในพื้นที่มีส่วนรู้เห็นทั้งในเรื่องของการเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและปล่อยให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการและเรื่องการเปิดให้มีการเล่นการพนันกันอย่างผิดกฎหมายนั้นก็จะต้องดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ส่วนเรื่องโพยการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 20 นาย วันละ 500 บาท ต่อวันนั้น ต้องเป็นเรื่องของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ถ้ายืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีการรับเงินจริงก็จะดำเนินการให้ถึงที่สุด เบื้องต้นตนได้มีคำสั่งให้ พ.ต.อ. ภาสกร กลั่นหวาน ผกก.โพธิ์แก้ว มาช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เป็นเวลา 30 วันตั้งแต่วันนี้ (20 เม.ย.) เป็นต้นไป แล้วมีคำสั่งให้ พ.ต.อ. กฤษณะ แจ่มสว่าง รอง ผบก.จว.นครปฐม เข้ารักษาการ ผกก.สภ.โพธิ์แก้ว แทน ส่วนตำแหน่งอื่นถ้าผลการสอบสวนเห็นว่ามีการปล่อยปะละเลยก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป

นอกจากนี้ พล.ต.ท.พงษ์สันต์ ได้มีคำสั่งการให้  พ.ต.ท.จุมพล  สิกเสน รอง ผกก.ป. พ.ต.ต.เชิดชัย ป้อชำนิ สว.สส. พ.ต.ต.กอบโชค เล็กตระกูล สวป. ไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมโดยไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ด้าน นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง
 
กรณีที่มีการจับกุมเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนมากเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงย่านอ้อมใหญ่ จ.นครปฐม และพบว่ามีเยาวชน 5 คน ใช้สารเสพติด ซึ่งเบื้องต้นทั้ง 5 คนจะถูกส่งตัวไปที่สถานพินิจฯ ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนเยาวชนรายอื่นที่ตรวจสอบไม่พบการใช้ยาเสพติดได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด แต่จะต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการให้ปล่อยให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการ 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของไทยยังบกพร่อง เนื่องจากไม่มีการปฏิบัติอย่างเข้มงวด ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับการใช้กฎหมายเคอร์ฟิวในการควบคุมไม่ให้เยาวชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด เพราะถือเป็นการคุ้มครองสุขภาพเยาชนมากกว่าที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก

นายธวัชชัย กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน ซึ่งสถิติปี 2554

พบว่า มีเยาวชนกระทำผิดในคดียาเสพติดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียนและวันหยุดยาวในเทศกาลต่าง ๆ จะพบปัญหาเยาวชนเสี่ยงกระทำความผิดมากขึ้น ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาแข่งรถและปัญหาการตั้งครรภ์ ดังนั้นตนเห็นว่าจำเป็นต้องมีการออกมาตรการควบคุมเยาวชนในช่วงเวลาดังกล่าวให้เข้มงวดมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือกรณีที่ผู้ปกครองแจ้งความจับลูกของตนเอง เพราะเห็นว่าการเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯจะปลอดภัยกว่าการปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก อีกทั้งถือเป็นการดัดนิสัยไปในตัว พร้อมกันนี้ขอยกตัวอย่างที่ศูนย์แรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา ซึ่งรองรับเยาชนได้ประมาณ 400 คน แต่ปัจจุบันมีเยาวชนถูกควบคุมตัวมากถึง 600 คน สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นดัชนีชี้วัดความเสื่อมของการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาชนที่สะท้อนถึงปัญหาสังคมด้วย  

อย่างไรก็ตามวันเดียวกันนี้กรมพินิจฯ ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม

โดยสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ และกรมคุมประพฤติ  แถลงข่าวเปิดตัวเครื่องมือจำแนก บำบัด ติดตามเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยนาธวัชชัย กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการพัฒนาเครื่องมือจำแนกปัจจัยเสี่ยงเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เยาวชนกระทำความผิด ซึ่งจะส่งผลถึงการจำแนกและการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมได้ และจากความร่วมมือกับหน่วยงานดังกล่าวตามโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป.

 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์