ปปง.ออกมาตรการหวังขุดราก-ถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เผยสถาบันการเงินขานรับใช้คอลเซ็นเตอร์ธนาคารรับแจ้งเหตุเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ตุ๋น หวังลดโอกาสสูญเงิน พร้อมประสานสถาบันการเงินตรวจสอบการเก็บข้อมูลลูกค้า หลังพบข้อพิรุธคนร้ายรู้ข้อมูลส่วนตัว เจาะจงเหยื่อมีฐานะ
วันนี้(9 มี.ค.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน 39 แห่ง เพื่อหารือถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า เบื้องต้นสถาบันการเงินให้การตอบรับมาตรการที่ผู้ตกเป็นเหยื่อหลอกโอนเงินสามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วน หรือคอลเซ็นเตอร์ ของธนาคารที่ปรากฏอยู่ด้านหลังบัตรเอทีเอ็มทันที เพื่อให้คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารประสานข้อมูลและชะลอการโอนเงินอย่างทันท่วงที โดยแต่ละธนาคารรับปากจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด หลังพบว่าที่ผ่านมาเหยื่อมักรู้ตัวทันทีที่กดตกลงโอนเงินไปแล้ว ขณะที่คนร้ายจะใช้เวลา 5-15 นาที จึงกดเงินออก ดังนั้น หากธนาคารรับแจ้งเหตุได้เร็วก็สามารถชะลอการจ่ายถือเป็นการลดโอกาสสูญเงินให้คนร้ายได้ โดยตนเห็นว่าปกติทุกธนาคารจะมีสายด่วนของตนเองอยู่แล้ว จากนี้จึงให้พนักงานทำหน้าที่เพิ่มเติมในการแจ้งเหตุด้วย
“ คนร้ายมีคอลเซ็นเตอร์ ปปง.ก็จะพยายามให้ธนาคารต่างๆมีคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นเบอร์ไว้รับแจ้งเหตุจากประชาชนโดยตรงเหมือนกัน” พ.ต.อ.สีหนาท ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่คนร้ายรู้ประวัติเหยื่อทั้งชื่อนามสกุล บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิดหรือรู้กระทั่งบัญชีธนาคาร ทำให้เหยื่อหลงเชื่อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่าเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะดี ดังนั้น จะต้องตรวจสอบว่ามีความรั่วไหลของข้อมูลจากแหล่งใด เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีการตั้งโต๊ะรับสมัครสินเชื่ออย่างแพร่หลาย สถานบันการเงินได้เข้าไปควบคุมดูแลหรือไม่ รวมถึงการที่ประชาชนใช้สำเนาเอกสารข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลเหล่านี้มีการเก็บรักษาเป็นความลับหรือไม่ โดยกรณีที่เพิ่งมีการจับกุมคนร้ายที่ขายข้อมูลบัตรเครดิตผ่านเว็บไซค์นั้น เชื่อว่าต้องมีการทำเป็นลักษณะเครือข่าย ซึ่งปปง.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ว่าเหตุใดข้อมูลสำคัญเหล่านี้จึงรั่วไหลออกไปให้คนร้ายใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงประชาชน
สำหรับปปง.ขณะนี้พบว่ามีเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ปปง.แจ้งเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 205 ราย มีผู้เสียหายที่หลงโอนเงิน 56 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท โดยธนาคารที่คนร้ายมักใช้เป็นจุดถ่ายโอนเงินมากที่สุดคือธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย จากการตรวจสอบพบว่ามีสถิติการถ่ายโอนเงินจำนวนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ปปง.กำลังเร่งการติดตามคดีด้วยการลงพื้นที่สอบปากคำประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ไม่ให้ประชาชนรายใดต้องตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้อีก