ถูกยิงที่ขาจนเล็กลีบจากเหตุการณ์สลายม็อบแดง ชูเสื้อ for friends
ที่เพื่อนช่างภาพ-นักข่าว ร่วมกันทำขายหาทุนช่วยเหลือ
โดยยังต้องรักษาตัวอีกอย่างน้อย 2 ปีจากกระสุนนัดนี้
ขาพิการ ช่างภาพแฉทหารยิง
ช่างภาพ-นักข่าวรวมใจช่วย 'ไชยวัฒน์ พุ่มพวง' ช่างภาพเนชั่น ถูกทาโวร์ยิงขาขณะปฏิบัติหน้าที่ช่วงทหาร กระชับพื้นที่ม็อบเสื้อแดงที่ดินแดง ช่างภาพเหยื่อปืนยืนยันถูกทหารยิง บาดเจ็บต้องผ่าตัดแล้วถึง 4 ครั้ง ทุกวันนี้อาการยังไม่ปกติ ทำงานไม่ได้ เตรียม ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการกระชับพื้นที่
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น ซึ่งถูกยิงด้วยปืนทาโวร์ที่ต้นขาขวาจนกระดูกและเส้นเลือดแตก ขณะปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์กระชับพื้นที่ บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ "ข่าวสด" ว่า ขณะนี้อาการดีขึ้น 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่อาการปวดยังมีอยู่ ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาได้ และเกิดผลกระทบตามมาอีกคือขาขวาสั้นกว่าข้างซ้าย 1 นิ้ว ต้องอาศัยไม้เท้าช่วยพยุงขณะเดิน
นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้รักษาตัวอยู่ที่ร.พ.พญาไท 1 นาน 2 เดือน 15 วัน ได้รับการผ่าตัด 4 ครั้ง เพื่อเอากระดูกที่แตกออก และใส่เหล็กเป็นแกนในแทน เมื่อกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านยังต้องไปพบแพทย์อีกเดือนละครั้ง เนื่องจากกระดูกบางส่วนยังไม่เชื่อมติดกัน และต้องกินวิตามินเสริมกระดูก นอกจากนี้ยังต้องทำกายภาพทุกวัน วันละ 3-4 ช.ม. ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยแพทย์ระบุว่าต้องใช้เวลารักษาอีกอย่างน้อย 2 ปี
นายไชยวัฒน์ เล่าเหตุการณ์วันเกิดเหตุว่า ช่วงสายวันที่ 15 พ.ค. ตนและช่างภาพอีกคนตระเวนถ่ายภาพบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง และซอยรางน้ำ มีชาวบ้านเห็นเป็นช่างภาพสื่อมวลชนจึงเรียกขอร้องให้ช่วยนำศพที่ถูกยิงออกมาจากจุดเกิดเหตุ เพราะกลัวว่าถ้าเข้าไปเอาออกมาเองจะโดนทหารยิง ตนก็เข้าไปช่วยนำออกมาได้ ช่วงบ่ายหลังจากพักกินข้าวกันเรียบร้อย ก็ออกไปตระ เวนถ่ายภาพบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงต่ออีก ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 60 คนเริ่มมารวมตัวกันแล้ว และนำยางรถยนต์มาวางกั้นฝั่งปั๊มน้ำมันเชลล์ แต่ยังไม่มีเหตุรุน แรงอะไร
ช่างภาพเหยื่อปืนทาโวร์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ตนเดินไปอีกทางหนึ่ง ได้ยินเสียงปืนยิงมาจากฝั่งของทหาร จึงหันกลับไปมอง ตอนแรกคิดว่าทหารจะยิงขู่เพียง 2-3 นัดแล้วหยุด
แต่ปรากฏว่ายังระดมยิงใส่ฝั่งที่วางยางรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ตนเดินถอยหลังไปด้วยพร้อมกับยกกล้องขึ้นถ่ายรูปคนที่ถูกยิงด้วย แต่ยังไม่ทันถ่ายก็ถูกยิงร่วงลงไป จึงถอยไปนั่งพิงหลังกับกำแพง และบอกเพื่อนช่างภาพที่อยู่ใกล้ๆ กันว่าถูกยิง ขณะนั้นขาขวารู้สึกชา มีเลือดไหล และหักพับไป ตนต้องกัดฟันจับขามาวางให้ตรงเหมือนเดิม แต่ก็ยังออกจากบริเวณนั้นไม่ได้ เพราะทหารยังระดมยิงเข้ามาไม่หยุด
นายไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนโทรศัพท์บอกเพื่อนช่างภาพสำนักข่าวเดียวกันว่าถูกยิง จากนั้นต้นสังกัดประสานไปยังศอฉ. ขอให้หยุดยิง แต่ทหารก็ยังไม่หยุด ยังระดมยิงอย่างหนักต่อไปอีกราวครึ่งชั่วโมง โดยเป็น การยิงมาจากฝั่งทหารเพียงฝ่ายเดียว เท่าที่เห็นผู้ชุมนุมมีเพียงมือเปล่า ยางรถยนต์ และกระบอกพลุเท่านั้น และก็เริ่มหนีแตกกระ จายกันไปแล้ว ภายหลังทราบว่าบริเวณเดียว กันนี้ มีผู้ชุมนุมไปเสียชีวิตที่ร.พ.อีก 3 ราย
"สาเหตุที่ผมถูกยิงทั้งๆ ที่สวมปลอกแขนแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชนชัดเจน อาจเป็นเพราะทหารไม่ต้องการให้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และจุดที่ผมยืนอยู่ก็อยู่คนละด้านกับผู้ชุมนุม กระสุนที่ยิงมาจึงไม่น่าจะเป็นลูกหลง เมื่อการยิงยุติ มีทหารเข้ามานำผมออกไป และสอบถามว่าเห็นผู้ชุมนุมมีปืนหรือไม่ ผมบอกว่าไม่เห็น" ช่างภาพเหยื่อปืนทาโวร์ กล่าว
นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะรักษา ตัว สำนักข่าวต้นสังกัดประสานกระทรวงสาธารณสุขให้ออกค่ารักษาให้
จากนั้นได้รับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีก 1 แสนบาท ขณะนี้ตนเตรียมฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบปฏิบัติการกระชับพื้นที่ครั้งนั้น โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนปรึกษาผู้มีความรู้ทางกฎหมาย เพื่อดูว่าจะฟ้องร้องช่องทางใดได้บ้าง
"ตัวผมเองได้รับการดูแลส่วนหนึ่งแล้ว แต่อยากให้คิดถึงอนาคตที่สูญเสียไปด้วย ผมกลับไปทำงานอย่างที่ต้องการไม่ได้ สูญเสียการปฏิบัติหน้าที่ไปเลย อยากให้รัฐบาลดูแลเราบ้าง ไม่เฉพาะผมเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ชุมนุม และชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ได้ผลกระ ทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย" นายไชยวัฒน์กล่าว
นายไชยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตนและเพื่อนช่างภาพ ผู้สื่อข่าว ร่วมกันก่อตั้งกองทุนเพื่อเพื่อน Photo For Friends เป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือช่างภาพมืออาชีพในทุกสายข่าว
และทุกสำนักข่าว กรณีได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยอยากให้กรณีของตนเป็นกรณีตัวอย่าง พร้อมกันนี้ยังจัดทำเสื้อยืดรูปช่างภาพ 3 คน จับมือประสานกัน แสดงให้เห็นว่า เราพร้อมช่วยเหลือเพื่อน ช่วยกันประคองเพื่อนที่ล้มอยู่ให้กลับยืนขึ้นมาได้ เงินที่ได้จากการจำหน่ายเสื้อจะสมทบกอง ทุนดังกล่าว ผู้สนใจติดต่อได้ที่ 08-1839-9997 หรือ 08-9494-9182 วันที่ 25 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. นี้ จะจัดนิทรรศการ For Friends ครั้งที่ 1 ที่ชั้น 3 Living Gallery 1 สยามพารากอน แสดงภาพถ่ายเหตุการณ์สลายการชุมนุม และเวทีเสวนากับช่างภาพข่าวของไทย
ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัม ภาษณ์ถึงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ว่า เรื่องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นนโยบายที่นายกฯ ยืนยันไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่าการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้เฉพาะห้วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะยกเลิก ไม่เฉพาะที่กทม.แม้แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ไหนที่ยกเลิกได้ นายกฯ ก็ให้แนวทางไว้ชัดเจน ฝ่ายปฏิบัติพยายามสนองตอบนโยบายของนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงขีดเส้นดีเอสไอเร่งคดี 89 ศพ โดยขู่ปักหลักชุมนุมรอบใหม่ยืดเยื้อ
นายสุเทพ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิ์ของประชาชนแต่ต้องชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ระมัดระวังดูแลให้อยู่ในกรอบกฎหมายก็มีสิทธิทำได้ แต่ถ้าชุมนุมแล้วทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ ไปปิดกั้นการจราจร อย่างนี้ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หารือกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมหรือไม่ ที่เสนอให้ปล่อยตัว 8 แกนนำนปช. ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของคอป.ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน นายสุเทพ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับพล.อ.ประวิตร เพราะต้องระมัดระวังให้มากเมื่อยังไม่ได้เข้ามาเป็นรองนายกฯ ก็ไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของใคร แต่ทั้งหมดมีกระบวนการและขั้นตอนในการกลั่นกรองความคิดกันอยู่
เมื่อถามว่าในฐานะที่ทำงานด้านความมั่นคง หากปล่อยตัวแกนนำนปช.ชั่วคราวจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า
ขึ้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงกับกระบวนการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ข้อเท็จจริงคือผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งหลายมีพฤติกรรมจะหลบหนีหรือไม่ มีพฤติกรรมว่าออกมาแล้ว ไปสร้างความยุ่งยากให้กับพยานหรือไม่ หรือไปทำให้สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น ถ้าเข้ากรณีอย่างนี้ ฝ่ายเจ้าของสำนวนไม่ว่าอัยการ หรือดีเอสไอ หรือตำรวจ คงคัดค้านประกันตัว แต่ทั้งหมดอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลพิจารณา
เมื่อถามว่าข้อเสนอการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำนปช. คอป.ต้องเสนอมาที่ศอฉ.ด้วย หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเสนอผ่านศอฉ.หรือรัฐบาลก็ตาม แต่คณะกรรม การชุดนี้ทำงานตามที่รัฐบาลมอบหมายไปขอให้มาช่วยทำก็เสนอต่อรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลจะเข้าไปบังคับหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเกินกว่าปกติคงไม่ได้
นายสุเทพ กล่าวถึงการกลับเข้ารับตำ แหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.
ระหว่างรอเวลาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ สั่งการเจ้าหน้าที่รีบทำคำสั่งมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ตน โดยให้ทำงานเดิมทุกอย่าง รวมทั้งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ยกเว้นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) นายกฯ เป็นประ ธานตามกฎหมายเหมือนเดิม สำหรับตำแหน่ง ผอ.ศอฉ.นั้น ตนเรียนนายกฯ ว่า พล.อ.ประวิตร รมว.กลาโหม ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว ตนจึงขออาสาดูแลเรื่องฟื้นฟูเยียวยาผู้ประ สบภัยน้ำท่วม เพราะคิดว่าจะช่วยงานเรื่องนี้ได้ดี
วันเดียวกันที่จ.ระยอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีศอฉ. สั่งห้ามแสดง ห้ามขายสินค้าที่จะสร้างความแตกแยกว่า เพิ่งเห็นข่าวเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ความจริงเรื่องทำนองนี้เคยเสนอขึ้นมาว่าให้ตนไปฟ้องร้องสินค้าที่ถือว่าหมิ่นประมาท แต่ตนไม่ฟ้องร้องเพราะนั่นเป็นความผิดส่วนตัว แต่ตอนนี้กำลังจะคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ตนเข้าใจว่าเดิมมีข้อห่วงใยคือเรื่องหมิ่นสถาบัน ซึ่งต้องเข้มงวดกวดขัน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่จะนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น เนื่องจากไปกระทบกับสิทธิ ตนก็อยากให้ทบทวน ซึ่งคงไปคุยก่อนเพราะต้องดูว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เนื่องจากไม่ได้อยู่ในศอฉ. จึงไม่ทราบว่าตอนมีคำสั่งนี้ออกมาต้องการรายละเอียดและรูปธรรมเป็นอย่างไร คงต้องนำเรื่องนี้มาทบทวน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทบทวนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องทบทวนคำสั่งของศอฉ.เพราะความจริงอยากให้มองไกล
เนื่องจากเมื่อยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำสั่งพวกนี้ไม่มีผลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้เป็นเรื่องที่ไปดูความเหมาะสม ความจริงเป็นปัญหาไม่เฉพาะพวกเรา เพราะแม้แต่องค์กรด้านสิทธิที่มาพบตนก็ยอมรับว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ระหว่างเรื่องใช้สิทธิเสรีภาพกับการทำให้เกิดความเกลียดชังแล้วไปกระทบสิทธิของคนอื่น ต้องหาความพอดีตรงนี้อยู่เหมือนกัน ตนคิดว่าจะคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพราะไม่ต้องการจะให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ขณะเดียวกันต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายว่าการกระทำใดที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบหรือการเกลียดชัง ถ้าสามารถละเว้นกันได้ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะเมื่อละเมิดสิทธิแล้ว ฟ้องร้องกันได้แต่ไม่เป็นประโยชน์กับใคร
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะพิจารณาภาพรวมว่าเมื่อมีความมั่นใจเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยได้ก็คงดำเนินการ แต่ตัวคำสั่งนี้มาทบทวนกันก่อนได้ เมื่อถามว่าสถานการณ์ขณะนี้กำลังมีทั้งผู้ชุมนุมเสื้อแดงและเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหวกันอีก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.โดยภาพรวมเป็นการชุมนุมที่เรียบร้อยดี ยกเว้นตอนท้ายมีปาประ ทัดยักษ์ ซึ่งตนบอกแล้วว่าถ้าใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ในขอบเขตก็ไม่มีปัญหา
ขณะที่นายนที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์อิสรชน กล่าวว่า วันนี้ตนนําสมาชิกและกลุ่มเครือข่ายคนเสื้อแดง อาทิ กลุ่ม 24 มิถุนาฯ, นปช.แดงเชียงใหม่, เครือข่ายพลเมืองไท, อาทิตย์ซาบซึ้ง
จัดกิจกรรมแรลลี่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยทางภาคเหนือ โดยนําถุงยัง ชีพเป็นผ้าห่ม เสื้อกันหนาว และอุปกรณ์กีฬาต่างๆ ไปแจกจ่ายชาวบ้านและเด็กนัก เรียนที่โรงเรียนตชด. หมู่บ้านแม่ละงอง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จํานวน 400 ชุด เนื่อง จากชาวบ้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งนี้หลังจากมอบสิ่งของเสร็จแล้ว คืนนี้สมาชิกเครือข่ายทั้งหมดจะร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันลอยกระทง บริเวณทางเข้าพืชสวนโลก จ.เชียงใหม่ โดยจะปล่อยโคมแดง และพับนกกระดาษแดง เพื่อรำลึกถึงวีรชนที่จากไป และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนํานปช. และคนเสื้อแดงที่อยู่ในเรือนจําทั้งหมด
นายนที กล่าวต่อว่า วันที่ 26-28 พ.ย. ตนพร้อมด้วยสมาชิกจะไปทํากิจกรรมทาง การเมืองกันที่ จ.อุดรธานี และหนองคาย
โดยวันแรก 26 พ.ย. จัดกิจกรรม "ที่นี่มีคนตาย" บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุดรฯ เพื่อรําลึกคนเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิต 2 ศพ บริเวณดังกล่าว พร้อมกับไปให้กำลังใจพี่น้องเสื้อแดงที่เรือนจําที่ถูกคุมขังอยู่กว่า 20-30 คน ข้อหาผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเผาศาลากลาง ส่วนกิจกรรมช่วงเย็นจะปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาการเมือง บริเวณสนามกีฬาอุดรฯ ส่วนวันที่ 27 พ.ย. จะไปต้อนรับขบวนจักรยานแรลลี่ที่ปั่นมาจากกรุงเทพฯ ปลายทางนครเวียงจันทน์ ระยะทาง 900 ก.ม. ที่จะมาถึง โดยตนจะรับไม้ต่อเพื่อปั่นไปส่งให้กับสมาชิกที่จ.หนองคาย จากนั้นจะปั่นจากหนองคาย ไปยังเวียงจันทน์
นายนที กล่าวต่อว่า นับจากนี้กลุ่มคนเสื้อแดงจะเริ่มเข้าโหมดเรียกร้องรัฐบาลปล่อยนักโทษการเมือง โดยใช้สัญลักษณ์นกกระดาษสีแดง ชื่อว่า "พิราบแดงแสดงพลัง หยุดกักขังพลเมืองเสียที" ขอเรียกร้องสมาชิกที่รักประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงทั่วประเทศ ร่วมกันพับนกกระดาษสีแดง แล้วนําไปผูกติดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงออกในการเรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ตามเรือนจําต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 100 คนให้ได้รับอิสรภาพ อยู่ตรงไหนพับตรงนั้น ผูกตรงนั้น กิจกรรมนี้จะดําเนินการไปจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม
วันเดียวกัน นางกรกมล พรมหิทธ์ แม่ค้าขายรองเท้าพิมพ์รูป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว พร้อมของกลางรองเท้ากว่า 100 คู่ ตามคำสั่งศอฉ. เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ย. เปิดเผยว่า วันนี้ตํารวจนัดไปรับของกลางคืนที่กก.4 บก.สส.บช.น. ของกลางส่วนใหญ่เป็นหมวกแก๊ปและหนังสือพิมพ์ของคนเสื้อแดง 10 ฉบับ ส่วนรองเท้าแตะทั้งหมดนายตํารวจเหมาซื้อไปราคากว่า 3,000 บาท และบอกไม่ให้นํารองเท้าแบบนี้มาขายอีก
นางกรกมล กล่าวต่อว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการกระทําเกินกว่าเหตุ เพราะตนไม่ได้วางจําหน่ายสินค้าแล้ว โดยเก็บและกำลังนั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน อยู่ๆ มีรถกระบะสีบรอนซ์เงิน อ้างเป็นตํารวจ แต่ข้างรถไม่มีตราโลโก้อะไร ขับมาจอดปาดหน้ารถแท็กซี่ แล้วสั่งให้ลงจากรถทําการตรวจค้น นําตัวไปสอบสวนตั้งข้อหาตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางเดินเท้า และสั่งปรับ 500 บาท ทั้งนี้จะหารือกับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก. ลายจุด แกนนํากลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เพื่อดําเนินการกับตํารวจที่กระทําเกินกว่าเหตุ ต่อผบ.ตร.ต่อไป และยืนยันว่าจะไม่เลิกขายรอง เท้านี้