คมชัดลึก :เข้าสู่วันพุธที่ 20 ตุลาคม ขณะที่ภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เริ่มคลี่คลายลงไป เนื่องจากน้ำที่ไหลบ่ามาจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ไหลลงสู่ลำน้ำลำตะคองผ่าน อ.สูงเนิน, อ.ขามทะเลสอ และ อ.เมือง นี่คือชะตากรรมของประชาชนที่อยู่ริมลำน้ำมูลที่จะต้องเผชิญ น้ำจากลำน้ำลำตะคองที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำมูลได้เพิ่มความเชี่ยวกรากขึ้นอย่างมาก ผ่านระยะทาง 33 กิโลเมตรของแม่น้ำมูล ระหว่าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ก็สู่พื้นที่ประวัติศาสตร์ของนครราชสีมา โดยเฉพาะ อ.พิมาย ซึ่งมีโบราณสถานสำคัญอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสาขา ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2507 โดยเริ่มจากการเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาท การขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน และการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
วิกฤติน้ำถล่ม!พิมายเมืองประวัติศาสตร์
ต่อมาปี 2532 กรมศิลปากรได้พัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ก่อสร้างอาคาร 3 หลัง แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน
1.อาคารจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของสังคมในดินแดนแถบอีสานตอนล่าง แสดงถึงรากฐานการกำเนิดอารยธรรมซึ่งมีมาจากความเชื่อต่างๆ ตลอดจนอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอก ที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ส่วนที่ 2 อาคารชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะแบบเขมรในอีสานล่าง และส่วนที่ 3 อาคารโถง จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทราย อาทิ ทับหลัง หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน บัวยอดปราสาท และปราสาทจำลอง นอกจากนี้บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ยังได้จัดแสดงใบเสมาและทับหลังที่สวยงามอีกด้วย
ส่วนวัตถุโบราณที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแห่งนี้ ได้แก่ ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 แผ่นทองศิลาฤกษ์ ทับหลัง หน้าบัน ชิ้นส่วนด้านบนของปราสาท รูปจำลอง ทวารบาล นาค สิงห์ ศิลาจารึก ใบเสมา ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ส่วนชิ้นส่วนที่มีค่าขนาดเล็ก อาทิ พระพุทธรูป วัตถุมงคล จากการวางศิลาฤกษ์ตัวปราสาทหินพิมาย เครื่องประดับเทวรูป เป็นต้น นี่คือคุณค่าและความสำคัญ ที่กำลังจะเผชิญกับความเสียหาย
"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายอยู่ติดกับแม่น้ำมูล ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็ได้นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันจำนวน 4 ชั้น โดยรอบของพื้นที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ช่วยสูบน้ำออก แต่กระแสน้ำไหลแรง และมีปริมาณมากจึงไม่สามารถที่จะปิดกั้นกระแสน้ำได้ ทำให้ขณะนี้น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบตัวอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้วางแนวป้องกันอีกชั้น โดยการนำกระสอบทรายมาวางปิดกั้นบริเวณประตูทางเข้าอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งจะเชื่อมกับส่วนจัดแสดงวัตถุโบราณอีกจำนวน 4 ชั้น รวมความสูงประมาณ 1 เมตร” สริยา ทรรทรานนท์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เล่าถึงการรับมือพร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า "ถ้าน้ำเพิ่มสูงจะมีการเคลื่อนย้ายวัตถุโบราณขนาดเล็กไปเก็บไว้ที่ชั้น 2 ส่วนชิ้นใหญ่คงไม่สามารถดำเนินการได้"
สุทธี ปุราทะกา หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพรม ให้คำอธิบายถึงเส้นทางน้ำว่า
“สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นขณะนี้คือ น้ำที่ท่วมอยู่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กำลังจะไหลจากลำน้ำลำตะคอง เพื่อมุ่งไปยัง อ.เฉลิมพระเกียรติ และไหลลงสู่แม่น้ำมูลในพื้นที่ อ.จักราช น้ำที่มีความแรงเชี่ยวกรากจะไหลเข้าพื้นที่ อ.พิมาย ซึ่งแม่น้ำมูลบริเวณ อ.พิมาย จะเป็นคอขวด ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาด้วยความเร็ว กระทบพนังกั้นน้ำที่ทางเขื่อนพิมายก่อสร้างรองรับและป้องกันน้ำท่วมเอาไว้ แต่ขณะนี้ไม่สามารถป้องกันได้ ปริมาณน้ำบางส่วนไหลเข้าท่วมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแล้ว”
ขณะที่ ชยุธพงศ์ อำรุงสุข รองผู้อำนวยการโครงการชลประทานทุ่งสัมฤทธิ์ ต.พิมาย อ.เมือง จ.นครราชสีมา คาดการณ์ว่านับจากนี้ไป อ.พิมายจะประสบภาวะน้ำท่วมที่อยู่ในระดับที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี หากประเมินจากปริมาณน้ำที่กำลังเอ่อล้นอยู่ในขณะนี้
“น้ำจากลำตะคลอง และน้ำลำพระเพลิง กำลังไหลเข้ามาในพื้น อ.พิมาย ซึ่งจากการประมาณการปริมาณน้ำเข้ามาในพื้นที่ อ.พิมาย ในวันที่ 20 ตุลาคม ปริมาณน้ำสูงกว่าที่เก็บกักไว้ ขณะนี้ทางเขื่อนเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน ทำให้พื้นที่พิมายเริ่มท่วมเป็นบางจุด ซึ่งขณะนี้ได้ทำหนังสือเตือนไปยังอำเภอพิมาย เทศบาลตำบลในเมืองพิมาย และองค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ติดลำน้ำมูล ให้เตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น”
นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพิมาย เมืองประวัติศาสตร์สำคัญแห่งแผ่นดินอีสาน!