เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง)
กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2554 ว่า คณะกรรมการ ค่าจ้างจะมีการนัดประชุมในวันที่ 11 ต.ค. นี้ ซึ่งจะมีการถกเถียงกันมากในเรื่องการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น กระทรวงแรงงานจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด โดย ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดได้ส่งตัว เลขการปรับขึ้นค่าจ้างมายังคณะกรรมการค่าจ้าง กลางทุกจังหวัดแล้ว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาในบางพื้นที่ ค่าจ้างไม่เพียงพอ ส่วนกรณี ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยวางกรอบตัวเลขไว้ที่ 250 บาทนั้น ก็เป็นเพียงกรอบตัวเลขที่นายกฯ ได้วางไว้เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องได้เท่านั้น เพราะอัตราค่าจ้างจะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เป็นไตรภาคี ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จะเป็นผู้พิจารณา
นายสมศักดิ์ ทองงาม คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จ.อ่างทอง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จ.อ่างทอง
มีมติเป็นเอกฉันท์ ขอปรับขึ้นค่าจ้างอีก 5 บาท จาก เดิม 165 เป็น 170 บาท อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับการที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 250 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันโรงงานขนาดใหญ่ทั่วไป ให้ค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่ 200 บาทขึ้นไปอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดที่น่าสนใจในการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศครั้งนี้ มีหลายจังหวัด
อาทิ แพร่ ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำสุด 151 บาท อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด มีมติขอปรับขึ้นค่าจ้างอีก 7 บาท เป็น 158 บาท น่าน เดิม 152 บาท ปรับขึ้น 4 บาทเป็น 156 บาท ศรีษะเกษ เดิม 152 บาทปรับขึ้น 2 บาท เป็น 154 บาท ประจวบคีรีขันธ์ 164 บาท ปรับขึ้น 3 บาท เป็น 167 บาท ภูเก็ต เดิม 204 บาท ขอปรับขึ้น 10 บาท เป็น 214 บาท ส่วน เพชรบูรณ์ เดิม ปีที่แล้ว บอร์ดค่าจ้างกลาง มีมติไม่ปรับขึ้นพร้อมกับอีก 4 จังหวัด แต่นายกฯ สั่งให้ทบทวน จนมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 3 บาท เป็น 158 บาท ปีนี้ขอปรับขึ้น 2 บาท เป็น 160 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ มีการเสนอขอขึ้น 7 บาท จากเดิม 206 บาท เป็น 213 บาท.