กมธ.สคบ.สภาฯ เรียกสายการบินต้นทุนต่ำแจงตั๋วโลว์คอสต์โหด จี้การบินพลเรือนยึดใบอนุญาต
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณากรณีที่ได้รับการร้องเรียนจากนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ว่า ราคาตั๋วสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์สูงเกินความเป็นจริง โดยมีผู้ประกอบการจาก 3 บริษัทคือ นกแอร์ ไทยโอเรียนท์และไทยแอร์เอเชีย กรมการบินพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้เอาประภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าร่วมการชี้
ทั้งนี้ได้หยิบยกกรณีราคาที่ไม่เหมาะสมกับการให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลจะมีราคาสูงกว่าปกติ รวมทั้งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่ม
การบินไม่ตรงต่อเวลาบ่อยครั้ง ในกรณีของนายเทพไท ที่ซื้อตั๋วของสายการบินนกแอร์ราคาสูง ก็ได้รับการชี้แจงว่าเป็นรูปแบบการบริหารของสายการบินต้นทุนต่ำที่ได้กำไรจากการขึ้นลงของราคา จะมีทั้งผู้โดยสารที่จ่ายถูกและจ่ายแพง โดยกรณีของนายเทพไทเป็นผู้อยู่ในกลุ่มที่จ่ายแพง เพราะอยู่ลำดับท้ายๆ ในการซื้อตั๋ว
"กมธ.เห็นว่าโลว์คอสควรจะมีราคาที่เหมาะสมและเป็นราคาที่ตรงกับการให้บริการที่มีน้อย แต่กลับมีกลุ่มผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งต้องจ่ายแพงถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะได้รับบริการที่น้อยลงเมื่อเทียบกับสายการบินอื่น กรณีราคาที่แตกต่างกันนั้นทางกรมการบินพลเรือนได้ชี้แจงการกำหนดราคาเพดานว่าโดยเส้นทางบินที่เกินกว่า 300 กิโลเมตรให้ผู้ให้ผู้ประกอบการบินเก็บได้ไม่เกินกิโลเมตรละ 13 บาท" นายชนินทร์กล่าว
นายชนินทร์กล่าวต่อว่า กรมการบินพลเรือนได้ชี้แจงว่าจะดูแลในเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก
ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้เสนอให้ไปดูแลเรื่องการให้บริการกับผู้โดยสารด้วย เพราะหากมีปัญหาการดีเลย์บ่อยครั้ง โดยอ้างเหตุว่าเป็น เพราะปัญหาอุปกรณ์เครื่องมือก็ยังรับได้ แต่ปรากฏว่ากลับรอเพื่อให้ผู้โดยสารเต็มลำ ก็ควรลงโทษสูงสุดโดยการการยึดใบอนุญาตประกอบการ นอกจากนี้ยังให้ สคบ.ได้ดูแลปัญหาการโฆษณาเกินจริง เช่น บินได้ในราคา 99 บาท 999 บาท แต่ไม่สามารถซื้อได้หรือมีที่นั่งจำกัด ซึ่ง สคบ.ชี้แจงว่าถูกกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม เพราะมีโฆษณาอักษรตัวเล็ก ๆ อยู่ด้านล่าง
นายชนินทร์ ยังได้ยกตัวอย่างราคาตั๋วสายการบินต้นทุนต่ำในราคาเพดานสูงสุดด้วยว่า สำหรับตั๋วที่มีเพดานสูงสุด เช่น เชียงใหม่ 7,356 บาท เชียงราย 8,658 บาท ภูเก็ต 8,952 บาท หาดใหญ่ 10,036 บาท ตรัง 9,308 บาท นครศรีธรรมราช 7,891 บาท นราธิวาส 10,751 บาท กระบี่ 8,671 บาทและสุราษฎร์ธานี 7,176 บาท เป็นต้น.