น้ำท่วมเมืองเชียงรายยังไม่พ้นวิกฤติ หลังฝนตกหนักทั้งคืนจนน้ำป่าไหลทะลักจากดอยนางแล ซัดถล่ม 5 หมู่บ้าน
พื้นที่การเกษตร สะพานขาด ถนนหนทางเสียหายหนัก ชาวบ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หนำซ้ำอ่างเก็บน้ำแตก น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรเกือบ 1,000 หลัง ใน 3 ตำบลจมบาดาล พ่อเมืองเชียงรายระดมเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยและทหารเข้าช่วยเหลือด่วน เช่นเดียวกับ จ.เชียงใหม่ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม อ.สันกำแพง อีกระลอก กรมชลประทานชี้เมืองไทยเผชิญปรากฏการณ์ "ลานินญา" ส่งผลให้เกิดพายุรุนแรง ฝนตกหนัก และอุทกภัย แต่ยืนยัน 4 เขื่อนใหญ่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้สบาย
สถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติหนัก ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ว่า ที่ จ.เชียงราย
หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานกว่า 5 ชั่วโมง โดยเฉพาะเขต อ.เมืองเชียงราย ส่งผลให้มีน้ำป่าจากเทือกเขาดอยนางแล และลำน้ำนางแล ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร และถนนใน 5 หมู่บ้านของ ต.นางแล ได้รับความเสียหาย ที่หมู่ 7 มีบ้านของชาวไทยภูเขา 3 หลัง และอาคารสำนักงานพัฒนาสังคมบนพื้นที่สูงและอาคารโรงไฟฟ้าพลังน้ำโดนน้ำพัดพังทั้งหลัง นอกจากนี้สะพานคอนกรีตที่บ้านลิไข่ โดนกระแสน้ำพัดคอสะพานขาดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ต่อมาเวลา 09.00 น. อ่างเก็บน้ำห้วยพลู ซึ่งเป็นอ่างดินเก็บน้ำสำหรับทำประปาหมู่บ้านของบ้านห้วยพลู ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย รองรับน้ำฝนไว้ไม่ไหว ปรากฏว่าอ่างเก็บน้ำแตก ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนใน ต.ท่าสุด ต.นางแล และ ต.บ้านดู่ รวมเกือบ 1,000 หลัง บางจุดระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร นอกจากนี้ถนนพหลโยธินสายเชียงราย-แม่จัน บริเวณสามแยกบ้านเด่น ต.นางแล และบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีน้ำท่วมสูงกว่า 80 ซม. เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรด้านที่มุ่งหน้าไปยัง อ.แม่จัน
นายสุรินทร์ เขื่อนเพชร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนางแล เผยว่า น้ำป่าที่ไหลหลากครั้งนี้ถือว่ามากเป็น ประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี
มีบ้านเรือนของราษฎรใน 10 หมู่บ้านกว่า 500 หลัง พื้นที่ทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ถูกกระแสน้ำและดินโคลนถล่มได้รับความเสียหาย เนื่อง จากกระแสน้ำไหลทะลักมาแรงและรวดเร็ว ส่งผลให้คอสะพาน คอนกรีตของหมู่บ้านลิไข่ ขาด 1 แห่ง ทำให้ชาวบ้านกว่า 80 ครอบครัว ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ได้ประสานงานไปยังจังหวัดเพื่อเร่งระดมเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
ด้านนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผวจ.เชียงราย พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยและหน่วยทหารพัฒนาที่ 35
นำเรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยนายสุเมธกล่าวว่า น้ำป่าดอยนางแลที่หลากเข้าท่วมบ้านเรือนครั้งนี้มาจากสาเหตุที่ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ทำให้ลำห้วยนางแลซึ่งมีสภาพตื้นเขินคับแคบและมีฝายกั้นน้ำขนาดเล็กของกรมชลประทานขวางทางน้ำ เมื่อดินโคลนและเศษไม้ไหลมาติดทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จะประสานให้ อปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข อาจมีการรื้อฝายกั้นน้ำและปรับสภาพลำน้ำใหม่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้นำอาหารน้ำดื่มและเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าช่วยเหลือชาวบ้านก่อน ส่วนในระยะยาวจะจัดงบประมาณของอำเภอและจังหวัดไปช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป
เชียงรายฝนถล่ม อ่างเก็บนํ้าแตก!
เช่นเดียวกับ จ.เชียงใหม่ เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา โดยเฉพาะ อ.สันกำแพง
มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรเป็นบริเวณกว้าง ถนนบางสายน้ำท่วมขังสูง 50-60 ซม. ไม่สามารถสัญจรได้ โรงเรียนบ้านสันกำแพงถูกน้ำท่วมต้องปิดการเรียนการสอน 1 วัน โดยในช่วงเช้า นายวิชิต บุญกังวาน นายอำเภอสันกำแพง นำกำลังเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย พร้อมกล่าวว่า น้ำป่าไหลหลากมาจาก อ.แม่ออน ที่อยู่ติดกัน เข้าท่วมพื้นที่หลายตำบลของ อ.สันกำแพง ซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ถ้าฝนไม่ตกลงมาอีก น้ำคงแห้งลง ได้สั่งการให้แต่ละตำบลรายงานความเสียหายให้ทราบเป็นการด่วนเพื่อจะช่วยเหลือเบื้องต้นต่อไป ด้านนายสุเทพ ปัญญาแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสันกำแพง กล่าวว่า ฝ่ายป้องกันได้เตรียมความพร้อมออกช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเรือท้องแบนและกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม ชาวบ้านที่เดือดร้อนมารับกระสอบทรายได้ที่สำนักงานเทศบาล ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ อ.แม่ออน ที่ถูกน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเมื่อคืนที่ผ่านมา ชาวบ้านต่างขนข้าวของหนีน้ำไม่ทันทำให้ได้รับความเสียหายมาก จนรุ่งเช้าน้ำได้แห้งลงแล้วเนื่องจากพื้นที่เป็นเขาสูง
ที่ จ.แพร่ นายสมชัย หทยะตันติ ผวจ.แพร่ พร้อมคณะเดินทางไปยังสำนักงาน อบต.ไผ่โทน อ.ร้องกวาง
เพื่อนำเงินชดเชยไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยหนัก 62 ราย อาทิ บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 4 หลัง ที่เหลือเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 672,000 บาท ชาวบ้านที่มารับเงินช่วยเหลือพากันขอบคุณและบางคนถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจ นายสมชัยเผยว่า ยังมีในส่วน การเกษตร ปศุสัตว์ และถนนหนทางที่เสียหายยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ด้านการเกษตรเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท ด้านการปศุสัตว์และประมงอีก 10 ล้านบาท และถนนสะพาน ที่เสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายส่งไปยังส่วนกลางจัดงบประมาณมาให้ความช่วยเหลือ ได้กำชับไปแล้วไม่ให้ล่าช้า เพราะถึง วันนี้เหตุเกิดผ่านไปร่วมเดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้า
ส่วน จ.อุบลราชธานี เมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
โดยเฉพาะบริเวณถนนชยางกูร ต.ในเมือง เป็นพื้นที่ลุ่ม หากเกิดฝนตก หนักเป็นเวลานานจะทำให้น้ำระบายไม่ทันจนเอ่อไหลเข้า ท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นประจำ หลังเกิดเหตุ นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความ เดือดร้อนทันที โดยนายประดิษฐ์ รักษา อายุ 30 ปี อยู่ บ้านเลขที่ 24 ถนนชยางกูร ต.ในเมือง เล่าว่า ถนนสายนี้ เวลาฝนตกน้ำท่วมขังทุกปี แต่ปีนี้น้ำท่วมหนักเร็วมาก ฝนตกไม่ถึงชั่วโมง น้ำจากถนนก็ไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านแล้ว รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องตื่นกลางดึกเพื่อรีบขนย้ายข้าวของหนีน้ำมาแล้ว 5-6 ครั้ง จนแต่ละคืนต้องหวาดผวาไม่กล้าหลับสนิท ขอฝากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบระบบท่อระบายน้ำถนนสายดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านด้วย
ด้าน จ.พัทลุง ช่วงสายวันเดียวกัน นายธนกรณ์ ตระบรรณพฤติ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดพัทลุง
นำกำลังไปสำรวจบ้านเรือนราษฎร ที่ถูกพายุหมุนพัดถล่มเมื่อตอนเย็นวันที่ 12 ก.ย. ที่บ้านทอนโดน หมู่ 9 ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน พบว่าบ้านเรือนราษฎร 74 หลังคาเรือน วัด 1 แห่ง และสวนยางประมาณ 100 ไร่ ได้รับความเสียหาย โดยนายธนกรณ์ เผยว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจะจ่ายช่วยเหลือเป็นเงินสดให้ชาวบ้านที่ประสบภัย พร้อมจัดหากระเบื้อง ไปมุงหลังคาบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนบ้าน เรือนที่เสียหายทั้งหลังจะจ่ายให้ไม่เกินหลังละ 3 หมื่นบาท
ที่กรมชลประทาน นายสุพัตร วัฒยุ ผอ.สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ช่วงเดือน ก.ย. ถึง พ.ย.นี้ จะมีฝนตกมากขึ้น
โดยเฉพาะพื้นที่ภาค กลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ล่าสุดเขื่อน ขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 40,925 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของปริมาณความจุ แต่ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 67 ของปริมาณความจุ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์ ลานินญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตรงกัน ข้ามกับเอลนีโญที่ประเทศไทยเคยประสบเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนกลับแบบบวก กระแสน้ำเย็นเปรูจะไหลกลับมาในทิศทางเดิม เพราะลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น กระแสน้ำอุ่นไหลมาทางเอเชียอาคเนย์ ทำให้มีพายุ รุนแรงกว่าปกติ เกิดฝนตกหนักและอุทกภัย
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ลานินญาจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น คาดว่าในเดือน พ.ย. เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อลุ่มเจ้าพระยา 4 แห่ง
คือ เขื่อน ภูมิพล จะมีปริมาณน้ำ 7,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 54 ของปริมาณความจุ เขื่อนสิริกิติ์ จะมีปริมาณน้ำ 6,720 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 71 ของปริมาณความจุเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำ 861 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ามีปริมาณน้ำเต็มเขื่อน อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดปรากฏการณ์ลานินญาช่วงปลายปีนี้ แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังมีปริมาณน้อย เนื่อง จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการนำน้ำสำรองจากเขื่อนไป ใช้ประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จนไม่เหลือปริมาณ น้ำสำรอง ดังนั้นแม้ฝนจะตกลงมามากกว่าปกติ แต่ก็ยังมีน้อยกว่าปริมาณน้ำสำรองที่ถูกนำไปใช้