มาร์ค ข้องใจเด็กว่างมากมีเวลายกพวกตีกัน แนะศธ.จัดตารางเรียนให้แน่น

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 กันยายนเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแล้ว ทั้งนี้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กันยายน หลังประชุม ครม.ว่า  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวที่ ศธ.เสนออย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง กรม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง มี ศธ.เป็นหน่วยงานหลักในการประสาน และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


นายชินวรณ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการมีดังนี้ มาตรการเชิงรุก ศธ.เห็นว่าช่วงเดือนตุลาคม 2552-กันยายน 2553 มีเหตุการณ์นักเรียน นักศึกษา ก่อเหตุทะเลาะวิวาท 45 ครั้ง

และพฤติกรรมช่วงหลังนำไปสู่ความรุนแรงจนมีผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียหายและเสียชีวิต จึงกำหนดให้สถานศึกษาจัดทำข้อมูลประวัตินักเรียน นักศึกษาเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกระทำผิด พร้อมภาพถ่าย และประวัติผู้ปกครอง จัดส่งให้สถานีตำรวจในพื้นที่ ศูนย์เสมารักษ์ ศธ. และแจ้งผู้ปกครองรับทราบ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และให้มีการติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยให้ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศูนย์เสมารักษ์ เจ้าหน้าที่เทศกิจพิทักษ์นักเรียนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) สุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยง หากพบกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


นายชินวรณ์กล่าวว่า ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้รับใบอนุญาต ครูอาจารย์กำกับดูแลความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา

ถ้าปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาบ่อยครั้ง ให้หน่วยงานต้นสังกัดแก้ไขปัญหาโดยเร็ว สำหรับสถานศึกษาเอกชนให้ลงโทษโดยปิดสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว และหากยังเกิดเหตุซ้ำซากให้ถอนใบอนุญาต ซึ่งเท่ากับปิดสถานศึกษาถาวร ให้ตั้งภาคีเครือข่าย และเปิดช่องทางการแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1579 และ 600 และตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งสอบสวนสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลย และรายงานผลต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ทุกวัน


"ที่มีข่าวว่า ศธ.จะส่งเด็กหัวโจกไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่ท้าทาย อาทิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังเป็นเพียงข้อเสนอ เป็นเพียงการจัดอบรมทำประโยชน์ให้กับสาธารณะ อาจมีทหารมาร่วมจัดทำหลักสูตร เช่น โครงการวิวัฒน์พลเมือง แต่ไม่ใช่ข้อสรุปของ ศธ. เพราะผมเห็นว่ายังมีวิธีการอื่นแก้ไขปัญหา อีกทั้งการส่งเด็กกลุ่มดังกล่าวลงไปชายแดนภาคใต้ จะยิ่งสร้างปัญหาซ้ำซ้อน รวมทั้งเป็นภาระด้านงบประมาณ"


นายชินวรณ์กล่าวว่า กรณีโรงเรียนเทคโนโลยีบางกะปิสั่งปิดชั่วคราวไปแล้วนั้น ในส่วนของโรงเรียนเทคโนโลยีดุสิตซึ่งเป็นคู่กรณีได้ไปตรวจเยี่ยม

และกำชับผู้บริหารให้เร่งจัดทำข้อมูลประวัติเด็กกลุ่มเสี่ยง หากมีการก่อเหตุขึ้นอีก จะสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเช่นกัน กรณีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันนี้ (7 กันยายน) ได้รับรายงานว่ามีการจับได้พร้อมอาวุธ มีด และระเบิดปิงปอง แต่ยังไม่ได้มีการก่อเหตุ จึงเชิญผู้ปกครอง และฝ่ายปกครองของวิทยาลัยมารับทราบเหตุ และกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ครม.เห็นชอบไป


รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมนักเรียนนักศึกษาถึงมีเวลาว่างไปตีกัน ทั้งๆ ที่อยู่ในเวลาเรียน

โดยนายชินวรณ์ชี้แจงว่า สาเหตุที่มีเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทในช่วงนี้มากเป็นเพราะเป็นช่วงหยุดให้มีการอ่านหนังสือสอบ นายอภิสิทธิ์จึงได้ย้ำให้นายชินวรณ์ไปแจ้งกับผู้บริหารสถานศึกษาว่า ในต่างประเทศ ตารางเรียนของนักเรียนนั้นจะแน่น จนไม่มีเวลาว่างไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท ดังนั้น ศธ.และสถานศึกษาอาจจะต้องพิจารณาให้มีการจัดตารางเรียนให้เหมือนในต่างประเทศจะได้ไม่มีเวลาวางไปตีกัน


"ไม่มีนะครับ นโยบายที่จะส่งเด็กนักเรียนไปปฏิบัติงานในภาคใต้ตามที่เป็นข่าว ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องไปพูดเรื่องนี้ให้ชัด ซึ่งผมก็คงจะต้องไปพูดด้วย" แหล่งข่าวอ้างคำพูดนายกฯ


นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองปลัด ศธ. กล่าวว่า วันที่ 14 กันยายน

จะนำเสนอคู่มือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ต่อคณะกรรมการระดับกระทรวง ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ซึ่งจะเสนอแยกระหว่างคู่มือของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา
นพ.สุริยเดว ทรีปาติ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การส่งนักเรียน นักศึกษากลุ่มหัวโจก ลงไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้สถิติในการคิด เพราะเมื่อลงโทษไปแล้วหากเกิดความไม่ปลอดภัย หรือสุ่มเสี่ยง อาจกลายเป็นดาบสองคม ส่วนตัวคิดว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่บริบทที่จะส่งเด็กไปลงโทษ เพราะจะเป็นการเพิ่มปัญหา และสร้างภาระให้กับจังหวัดมากยิ่งขึ้น


"ปัญหาเด็กตีกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะในวัยรุ่นมีกระแสโดมิโน คือการลอกเลียนแบบโดยที่ขาดวุฒิภาวะ และต้องยอมรับว่าการคลุกคลีวงในระหว่างพ่อแม่ลูกขาดหายไป ดังนั้น ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันภายในครอบครัว เริ่มตั้งแต่บ้าน ชุมชน และโรงเรียน" นพ.สุริยเดวระบุ
 n


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์