รมว.วัฒนธรรมเตรียมเป็นเจ้าภาพนัดหารืออัยการ ตำรวจ สภาทนายความ สังคายนาบทลงโทษผู้ค้าวีซีดีผิด พ.ร.บ.
ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้เหมาะสม ชี้คนขายซีดีแผ่นเดียว ไม่ควรรับโทษสูงเท่ากับผู้ลักลอบถ่ายหนังในโรง
เผยยอดคดีตำรวจจับกุมอยู่ในศาล รวม 166 คดี ภาคเอกชนอัดสีกากีเละ เลือกปฏิบัติไม่ยอมจับแผงค้าเถื่อนที่ตั้งแผงทนโท่กรณีพนักงานเก็บขยะกรุงเทพมหานครนำซีดีเก่าไปวางขาย แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับส่งฟ้องศาลตกเป็นจำเลย ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ จำพวกแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ คดีมีอัตราโทษหนักปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 1 ล้านบาท โดยผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับนั้น
ความคืบหน้าที่ศาลอาญาวันที่ 19 ส.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้ตรวจสอบจำนวนคดีที่ตำรวจจับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 แล้วพบว่ามีถูกฟ้องเข้ามาทั้งสิ้น 82 ราย ตั้งแต่คดีดำที่ อ.3367/51 ถึง อ.2205/53 คดีแรกคือคดีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายกฤษดา ทองสา จำหน่ายวีซีดีราคาแผ่นละ 59 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดย่านทุ่งสีกัน เมื่อเดือน ธ.ค.51 ศาลลงโทษปรับ 1 แสนบาท ส่วนคดีล่าสุดอัยการฟ้องนายกองรบ บุญยเกียรติ ฐานขายหนังแผ่นฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้จำนวนมาก เหตุเกิดที่ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กทม. ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 30 ส.ค.นี้
ส่วนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อัยการนำคดีมาฟ้องรวม 84 คดี ล่าสุดคือคดีดำที่ 2115/53 มีนายวสุ เทียนเนียน เป็นจำเลย เหตุเกิดวันที่ 15 มิ.ย.53 ที่ตลาดคลองถม ศาลพิพากษาปรับ 1 แสนบาท จำเลยนำเงิน 1 แสนบาทมาจ่ายค่าปรับแล้ว ศาลจึงออกหมายปล่อยตัว รวม 2 ศาลมีคดีรวมกันทั้งสิ้น 166 คดี
ที่รัฐสภา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ จะเรียกประชุมอัยการ ตำรวจ สภาทนายความและกระทรวงวัฒนธรรม
เพื่อหารือถึงการแก้ไขบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ให้เหมาะสม ภายหลังเกิดปัญหาพนักงานเก็บขยะ กทม.ถูกศาลตัดสินปรับเป็นเงิน 133,400 บาท เนื่องจากนำซีดีที่เก็บจากกองขยะไปขาย โดยจะพิจารณาแก้กฎหมายว่า ผู้จำหน่ายซีดีโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบการ หรือจำหน่ายเพียงไม่กี่แผ่น ไม่ควรมีบทลงโทษรุนแรงขนาดนี้ เนื่องจากเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ต้องการควบคุมไม่ให้มีการลักลอบถ่ายหนังในโรงภาพยนตร์ เพื่อนำไปก๊อบปี้จำหน่าย จึงกำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงคือ ปรับ 200,000-1,000,000 บาท ดังนั้นไม่ควรกำหนดโทษผู้จำหน่ายซีดี 1 แผ่น โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เท่ากับผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต
เร่งสังคายนา วีซีดีขยะ นัดหารือร่วม
ด้านนายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า สวช.ได้เตรียมจัดสัมมนาฝึกอบรมและทำความเข้าใจ
เนื้อหากฎหมายและการดำเนินการตามกฎหมายในส่วนของเจ้าหน้าที่ โดยจะเชิญเจ้าหน้าที่สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (สภว.) ตำรวจ ผู้พิพากษา และผู้ประกอบการร้านวีดิทัศน์จากทุกภูมิภาค จำนวนรวม 250 คน มาร่วมหารือทำความเข้าใจในวันที่
23 ส.ค.นี้ สำหรับยอดผู้ประกอบการร้านวีดิทัศน์ให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์
จำพวกแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,426 แห่ง ซึ่งถือว่าน้อยมาก เนื่องจากข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันร้านวีดิทัศน์ที่จำหน่ายและให้เช่าแผ่นวีซีดีและดีวีดีนั้นมีจำนวนมาก โดยเฉพาะแผงลอยในตลาดนัดและในห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ หลายคนอาจจะเข้าใจว่าร้านวีดิทัศน์แผงลอยตามตลาดนัดและห้างสรรพสินค้าไม่ต้องขอใบอนุญาต ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด การจะประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ต้องขอใบอนุญาต ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สวช.ยังพบจำนวนผู้ประกอบการที่ไม่ดำเนินการขออนุญาตตามกฎหมายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร
กล่าวถึงเนื้อหาของกฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ต้องมีการนำมาหารือกันอีกครั้งในหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ แม้จะเข้าใจว่าการออกกฎหมายนี้เพื่อปกป้องธุรกิจของคนทำภาพยนตร์และมีลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจนในคำนิยาม จำกัดความ เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา ชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตกเป็นผู้ต้องหา ทั้งที่บางครั้งไม่มีเจตนากระทำเป็นอาชีพ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของครอบครัว
ขณะที่นายชาตรี ชินวุฒิ รองประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ภาคเอกชน)
เปิดเผยว่า พื้นที่ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูง ได้แก่ ตลาดคลองถม ตลาดบ้านหม้อ ซึ่งในกรุงเทพฯ ประมาณการว่ามีแผงขายซีดีเถื่อนทั้งที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และซีดีที่บันทึกภาพและเสียงซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อประชาชน (ซีดีลามก อนาจาร) กว่า 5,000 แผง และในต่างจังหวัดอีกกว่า 15,000 แผง แต่ตำรวจไม่มีแนวทางแก้ปัญหาใด ทั้งที่ผิดกฎหมายชัดเจนกว่ากรณีคนขายซีดีเก่า
พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า
ปัญหาเรื่องการจับกุมการขายซีดีตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ พ.ศ.2551 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. มีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ รอง ผบ.ตร. (ปป2) ซึ่งรับผิดชอบด้านการปราบปรามเข้ามาดูแล ซึ่งต้องขอเวลาศึกษาในรายละเอียดของข้อกฎหมาย เพื่อจะได้มีมาตรการในการปฏิบัติหน้าที่ให้ชัดเจนต่อไป