เตือนภัยออนไลน์อันตราย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ส.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

จัดสัมมนาเรื่อง "เทคโนโลยีไอซีทียุคใหม่ ใช้อย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิ์" นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ภัยของเทคโนโลยีไอซีทีแนวทางการแก้ปัญหาโดยเฉพาะกับเยาวชน ผู้ปกครองต้องสอดส่องดูแลกระทรวงจัดทำโปรแกรมที่สามารถตรวจสอบย้อนหลัง ควบคุมเวลาการเล่นอินเตอร์เน็ต หรือบล็อกเว็บไซต์ได้ ผู้ปกครองโหลดโปรแกรมได้จากเว็บไซต์กระทรวงไอซีที

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รองผบก.ปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี กล่าวว่า เว็บบอร์ดในต่างประเทศจะมีไว้เพื่อแสดงความคิดเห็น

แต่ไทยกลับใช้ด่าพ่อล่อแม่ สิ่งที่อยากเน้นคือการเข้าสู่สังคมออนไลน์ ต้องคิดว่ามีทั้งคนหวังดีและไม่หวังดี ดังนั้น ข้อมูลส่วนบุคคลควรเป็นความลับ ไม่ว่าภาพถ่าย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร และวันเดือนปีเกิด เพราะไม่นานมานี้มีหญิงสาวคนหนึ่งประกอบอาชีพส่งออกและนำเข้าสินค้าจากเกาหลีและจีน เปิดขายสินค้าในเว็บไซต์ เปิดเผยชื่อ เบอร์โทร.และบัญชี เพื่อไว้ให้ลูกค้าติดต่อและโอนเงิน ปรากฏว่าคนร้ายใช้วิธีรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของเหยื่อ แล้วโทร.ไปคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร อ้างเป็นเจ้าของบัญชี แต่ลืมรหัสผ่านของบัญชี ทางธนาคารสอบถามข้อมูลส่วนตัวสามารถตอบคำถามได้หมด เพราะทราบข้อมูลส่วนตัวจากเว็บไซต์ที่เหยื่อลงไว้และได้รหัสผ่าน นำไปถอนเงิน 3 แสนบาท

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ได้รับอีเมล์ระบุข้อความน่าเชื่อถือ

โดยคนร้ายอ้างว่าเป็นวิศวกรชาวสเปนที่ร่วมขบวนการเตรียมลักพาตัวลูกสาวของผู้บริหารคนดังกล่าว แต่เกิดผิดใจกับผู้ร่วมขบวนการ จึงแยกตัวและเดินทางไปอยู่อุรุกวัย โดยขบวนการดังกล่าววางแผนลักพาตัวลูกสาวเหยื่อที่ไซต์งานในจ.ปราจีนุบรี มีข้อมูลดำเนินการทั้งหมดและพร้อมส่งข้อมูลให้แต่ต้องแลกกับเงิน ผู้บริหารรายนั้นเชื่อข้อมูลที่นำมาอ้างเพราะเป็นข้อมูลถูกต้องทุกอย่าง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วเป็นการหลอกลวง เพราะข้อมูลที่คนร้ายนำมาอ้างเป็นของบริษัทที่ได้จากเว็บไซต์

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า เทคโนโลยีมีคุณประโยชน์มากกว่าโทษ กรณีฮ.ของปลัดทส.ตกในจ.น่าน ก็ค้นหาได้จากสัญญาณจีพีเอส

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า เราควรรักษาข้อมูล การใช้อีเมล์ต่างๆ ไม่ว่า hotmail yahoo facebook และ twitter ควรตั้งรหัสผ่านให้เข้าถึงยาก รวมทั้งไม่ควรใช้รหัสผ่านเดียวโดยตลอด การเข้าสู่สังคมออนไลน์ผู้ใช้ควรศึกษาข้อมูลให้มาก ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวกับใคร ก่อนโพสต์ข้อมูลลงสังคมออนไลน์ควรคิดให้รอบคอบ อย่าคิดแค่ว่าพูดคุยกับเพื่อนและไม่มีใครเห็น เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ ไม่ควรให้ใช้ facebook เพราะความไร้เดียงสาของเด็กนำภัยมาสู่ตัว อาทิ การโพสต์ว่า ไม่มีคนอยู่บ้าน แม่ยังไม่กลับ ทำให้เป็นช่องทางผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุได้ หรือรูปภาพบุตรหลานก็ไม่ควรโพสต์ในเว็บไซต์เหล่านี้ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ในต่างประเทศคนดังพยายามปกปิดหน้าตาบุตรหลานเพราะกลัวถูกลักพาตัว ประเทศไทยลูกนายกฯ มีเจ้าหน้าที่คุ้มกันเต็มมหาวิทยาลัย เพราะกลัวไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวงไปข่มขืน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์