คมชัดลึก : แฉ “ยาเม็ดปาร์ตี้” ยาเสพติดชนิดใหม่ในประเทศไทยนำเข้าโดยนักท่องเที่ยวยุโรป กรมวิทย์ตรวจพบลักษณะคล้ายยาบ้าผสมยาอี เสพแล้วเคลิ้ม ตื่นตัว ประสาทหลอน เม็ดยาเป็นแคปซูลหลากสี แถมทำเป็นรูปหัวใจ การ์ตูน กินผสมยาเสพติดอื่น-แอลกอฮอล์ถึงตาย ต่างประเทศจัดเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย ขณะที่ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุม เกรงระบาดหนัก
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
เปิดเผยว่า เมื่อประมาณปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งตัวอย่างยาเสพติดตรวจวิเคราะห์หาสารเสพติดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยตรวจพบยาเม็ดปาร์ตี้ ซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดใหม่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศในแถบยุโรป ลักษณะกล่องยาคล้ายอาหารเสริม ลักษณะของเม็ดยามีทั้งแบบแคปซูลและเม็ดยาหลากสี คล้ายยาบ้า โดยนักท่องเที่ยวนำเข้ามาจัดปาร์ตี้เสพยาเสพติด
นพ.จักรธรรม กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการตรวจพิสูจน์ของกลางยาเสพติดของห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 ชลบุรี
และสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างปี 2552-2553 พบสารเสพติด ในกลุ่มพิเพอราซีน (Piperazine-based drugs) 2 ชนิดได้แก่ BZP และ TFMPP ลักษณะตัวอย่างเป็นแคปซูลคล้ายอาหารเสริมและชนิดเม็ดยามีสีและสัญลักษณ์ต่างรูปแบบคล้ายยาอี พบในเขต จ.ชลบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 คดี โดยมักพบสารสองชนิดร่วมกันหรืออาจพบชนิดเดียว และพบร่วมกับยาอีชนิดเอ็มดีเอ็มเอ แสดงให้เห็นว่าสารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีนมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยแล้ว
“มีการส่งยาชนิดนี้ตรวจครั้งแรกประมาณเดือนกรกฎาคม 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนักท่องเที่ยวนำยาชนิดดังกล่าวเข้ามาจำนวน 8,000 แคปซูล จับได้ที่ จ.ชลบุรี ลักษณะยาเป็นเม็ดแคปซูลสีฟ้า-ขาว หลังจากนั้นมีการส่งตรวจอีก 4 ครั้ง ทั้งจากชลบุรี กรุงเทพฯ และนนทบุรี ลักษณะเม็ดยาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ บางครั้งเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้มอ่อน ยาเม็ดกลมแบนสีแดงสัญลักษณ์รูปหัวใจ ยาเม็ดกลมแบนสีชมพู สัญลักษณ์ Adidas และยาเม็ดกลมแบนสีขาวขุ่น สัญลักษณ์รูปการ์ตูน ผลการตรวจวิเคราะห์ทุกครั้งพบสารเสพติดชนิดเดียวกัน” นพ.จักรธรรม กล่าว
แฉ“ยาเม็ดปาร์ตี้”ระบาดนักท่องเที่ยวยุโรปนำเข้าไทย
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สารเสพติดที่ตรวจพบเป็นสารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีน
ซึ่งมีตัวยา 2 ชนิดคือ BZP และ TFMPP บางครั้งพบสารชนิดเดียว แต่บางครั้งพบสารสองชนิดร่วมกันและบางครั้งพบร่วมกับยาอีชนิดเอ็มดีเอ็มเอ หลังจากที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งป็นสถานตรวจพิสูจน์ยาเสพติดของประเทศ ตรวจพบสารเสพติดดังกล่าวจึงได้รายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อตรวจสอบ ป้องกันการนำมาใช้ในทางที่ผิด รวมทั้ง กำกับ ควบคุม ดูแล และ กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีนต่อไป
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ยาเสพติดที่ตรวจพบดังกล่าว เป็นยาที่มีส่วนผสมของสารเสพติดที่มีการนำมาใช้ในสถานบันเทิง
ซึ่งมีอยู่หลายชนิด รวมเรียกว่า Club drugs ในยุโรปเรียกว่า Party drugs ในประเทศไทยประกอบด้วยยาเสพติดจำพวก ยาอี ยาเค ยาไอซ์ โคเคนหรือ ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ ส่วนยาเม็ดปาร์ตี้ (Party pills) หรือ herbal highs, pep pills, dance pills, natural powder ที่ตรวจพบครั้งนี้ เป็นชื่อเรียกของสารในกลุ่มพิเพอราซีน โดยสารในกลุ่มนี้มีหลายตัว แต่ที่พบมากคือ BZP (benzylpiperazine) และTFMPP ( 1-[3-(trifluoromethyl)phenyl]piperazine)
"BZP จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางคล้ายยาอีและยาบ้า ทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน มีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ส่วน TEMPP จะมีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอนคล้ายยาอี ผู้เสพมักใช้สารสองชนิดร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ อย่างไรก็ตาม สารในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ทำให้ใจสั่น ความดันโลหิตสูง สับสน นอนไม่หลับ และจากการศึกษาในหนูพบว่าการใช้ร่วมกันในขนาดสูง จะทำให้เกิดอาการชัก หรือถ้าใช้ร่วมกับยาเสพติดอื่น และแอลกอฮอล์อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้" นพ.นิพนธ์ กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า สารอนุพันธ์พิเพอราซีนที่ตรวจพบครั้งนี้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทน้อยกว่าเมทแอมเฟตามีนที่เป็นส่วนประกอบของยาบ้าถึง 10 เท่า
จึงยังไม่ถูกจัดเป็นสารควบคุมในอนุสัญญาสหประชาชาติ แต่ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ควบคุมสารเหล่านี้ เช่น สหรัฐอเมริกาจัด BZP เป็นสารควบคุมประเภท 1 นิวซีแลนด์จัด BZP และ TFMPP เป็นยากลุ่มซี (Class C drugs) ภายใต้กฎหมายยาเสพติด และญี่ปุ่นจัด BZP และ TFMPP เป็นสารควบคุม ภายใต้กฎหมายควบคุมยาเสพติด แต่ประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมตามกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการแพร่ระบาดที่ชัดเจน