เครื่องบินปากีสถาน ประสบอุบัติเหตุ ตกขณะพยายามร่อนลงจอดที่สนามบินในกรุงอิสลามาบัด ท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่อง 152 คนเสียชีวิตทั้งหมด เผยเครื่องบินใช้งานมานานแล้ว 10 ปี บินปากีฯดิ่งมรณะใกล้กรุงอิสลามาบัด ขณะพยายามลงจอดท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่อง 152 คนเสียชีวิตทั้งหมด เผยเครื่องบินใช้งานมาแล้ว 10 ปี
เกิดเหตุเครื่องบินโดยสารของปากีสถานประสบอุบัติเหตุตกลงระหว่างเทือกเขา 2 ลูกใกล้กับกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ยังไร้แววผู้รอดชีวิต
นายเปอร์เรซ จอร์จ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการบินพลเรือน เปิดเผยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์บลู ที่กำลังมุ่งหน้าจากนครการาจี ไปยังกรุงอิสลามาบัด แต่กลับประสบอุบัติเหตุระหว่างพยายามลงจอดที่สนามบินนานาชาติเบเนซีร์ บุตโต ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แปรปรวน และขาดการติดต่อสื่อสารกับทางหอควบคุมการบิน ก่อนที่จะได้รับทราบว่าเครื่องบินลำดังกล่าวประสบอุบัติเหตุตก โดยขณะเกิดเหตุมีผู้โดยสารอยู่บนเครื่อง 146 คนและลูกเรือ 6 คน ซึ่งเสียชีวิตทั้งหมด
สถานีโทรทัศน์ของปากีสถานได้เผยแพร่ภาพของซากเครื่องบินที่มีกลุ่มควันพวยพุ่งออกมา
ขณะที่ทางกองทัพได้ส่งกำลังทหารพิเศษเข้าไปในพื้นที่พร้อมกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือของเครื่องบินลำดังกล่าว ด้านญาติๆ ของผู้โดยสารบนเครื่องบินต่างพากันมายืนรอฟังข่าวอยู่ที่สนามบินนานาชาติเบเนซีร์ บุตโต ด้วยความเศร้าโศก
ทั้งนี้ สายการบินแอร์บลูให้บริการทั้งบินในประเทศปากีสถานและบินไปต่างประเทศ คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และอังกฤษ
โดยอุบัติเหตุครั้งล่าสุดของสายการบินแอร์บลูเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ที่สนามบินเควตตา แต่ไม่มีความเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น ส่วนอุบัติเหตุครั้งรุนแรงในปากีสถานเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 เมื่อเครื่องบินฟอกเกอร์ เอฟ-27 ชนิดสองเครื่องยนต์ของสายการบินนานาชาติปากีสถานประสบอุบัติเหตุตกบริเวณชานเมืองมุลตาน ทำให้ผู้ที่อยู่บนเครื่อง 45 คนเสียชีวิตทั้งหมด
เมื่อปี 2550 สหภาพยุโรป(อียู) ได้สั่งห้ามสายการบินปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์ไลน์ส สายการบินแห่งชาติของปากีสถานบินผ่านน่านฟ้าชั่วคราว
เนื่องจากเป็นห่วงกังวลเรื่องสภาพของเครื่องบินและการดูแลที่ไม่ดีพอ อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามดังกล่าวได้ยกเลิกในเวลาต่อมา เนื่องจากทางสายการบินได้มีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานตามที่อียูต้องการ สำหรับเครื่องบินลำที่ประสบอุบัติเหตุนี้ เป็นเครื่องบินแอร์บัส 321 ที่ใช้งานมาแล้ว 10 ปี (เอพี/เอเอฟพี/รอยเตอร์)