อย.ทลายอีก แหล่งผลิตเครื่องสำอางปลอมยี่ห้อ Quan Li ยาลดความอ้วน กาแฟลดน้ำหนัก

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

ร่วมกับ พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รักษาราชการแทน ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอางซึ่งคาดว่าน่าจะผิดกฎหมาย บริเวณย่านสุวินทวงศ์ โดยต้องการให้ อย. เข้าไปตรวจสอบ เพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อย. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ นำหมายค้นศาลจังหวัดมีนบุรีที่ 375/2553

เข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 511/244 หมู่บ้านรุ่งกิจแกรนด์วิสต้า ถนนสุวินทวงศ์กรุงเทพฯ พบว่าเป็นแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศว่ามีการผสมสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ สถานที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งจัดส่งเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ ที่ผิดกฎหมายให้แก่ลูกค้าทางไปรษณีย์ด้วย โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่ตรวจพบว่าผิดกฎหมาย จำแนกได้หลายรายการ

เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศว่ามีสารปรอท ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ได้แก่ ครีมยี่ห้อ Quan Li โดยพบมีการนำครีมยี่ห้อนี้แบ่งบรรจุใส่กระปุก และถุงพลาสติก อีกทั้งพบครีมยี่ห้อบาชิ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงฉลากเป็นเท็จและหลอกลวงจำนวนมาก โดยอวดอ้างสรรพคุณกระชับทรวงอก เสริมทรวงอก ลดความอ้วน รักษาตกขาว เป็นต้น , โลชั่นปลูกคิ้ว ปลูกหนวด ฉลากมีข้อความว่า HG9 XTRAทำให้ผมขึ้น , เจลนวดลดไขมันส่วนเกิน (Slimming Gel) , ผลิตภัณฑ์ฟอกสีผิว พบเลขทะเบียน อย. ปลอม , ยาแผนโบราณ ไม่มีใบอนุญาตขาย หลายรายการ เช่น ยา MAXCIN อวดอ้างบำรุงสุขภาพ เป็นยาอายุวัฒนะ , ผลิตภัณฑ์กวาวเครือ ฉลากแสดงชื่อ IRIS ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ แต่ไม่มีใบอนุญาตขายยา , ยาเม็ดไม่มีฉลากบรรจุในแผง ประมาณ 1,000 แผง , ยาแคปซูลที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ฉลากแสดงชื่อ P57 HOODIA , ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงว่า ซานซี สมุนไพร หยิน หยาง แห่งจีน เป็นยาจีนที่ไม่เลขทะเบียนตำรับยา , ยาลดความอ้วนที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 1,000 แผง , ยาเม็ดสอดช่องคลอด แผงละ 5 เม็ด ประมาณ 3,000 แผง , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟลดน้ำหนัก (DIET COFFEE PLUS) อวดอ้างกระชับสัดส่วน , ผลิตภัณฑ์ที่จัดเป็น เครื่องมือแพทย์ ไม่แสดงฉลากภาษาไทย นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ เครื่องนวดหน้า ไอออนโต อัลตร้าโซนิค รวมมูลค่าของกลางกว่า 3 ล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวว่า ในส่วนของความผิดได้แจ้งดำเนินคดีแก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในหลายข้อหา ได้แก่

1. กรณีเครื่องสำอาง 1.1 ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 1.2 ผลิตเครื่องสำอางปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 1.3 แสดงฉลากเครื่องสำอางไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับ
ไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรณียา แจ้งข้อหา 2.1 ขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาท 2.2 ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. กรณีอาหาร แจ้งข้อหาฉลากอาหารไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

4. กรณีเครื่องมือแพทย์ 4.1 ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.2 ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์